3 ประเภทภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สาเหตุ และอันตรายของมัน

3 ประเภทภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ Sleep apnea เป็นปัญหาต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และยังเกิดได้กับทุกคนทั้งผู้หญิงผู้ชาย เด็ก รวมทั้งผู้หญิงที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์  อาการหยุดหายใจขณะหลับ สาเหตุ และอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง บทความนี้มีความรู้มาแนะนำครับ

ประเภทของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และเกิดขึ้นได้กับบุคคลหลายช่วงวัย รวมถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับของหญิงตั้งครรภ์ และภาวะหยุดหายใจขณะหลับของเด็ก ซึ่งแต่ละภาวะมีสาเหตุและลักษณะอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในคนทั่วไป

โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจที่พบในบุคคลทั่วไป สามารถพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยพบมากในเพศชายประมาณ 24% และในเพศหญิงประมาณ 9%

อาการหยุดหายใจขณะหลับเป็นโรคที่พบได้สูงเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไปทั้งเพศชาย และเพศหญิง เนื่องจากการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกาย รวมทั้งเซลล์สมองและของทางเดินหายใจ จึงส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงเมื่อนอนหลับ

สำหรับสาเหตุของโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับที่พบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง อาจเป็นเพราะช่วงลำคอของผู้ชายมีลักษณะที่หนาและสั้นกว่าผู้หญิง เมื่อผนังบริเวณลำคอเกิดการหย่อนยาน ทำให้ช่องลำคอตีบแคบจึงอุดกั้นทางเดินหายใจได้มากกว่าผู้หญิง

2. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก

นอกจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป อาการเหล่านี้ยังเกิดขึ้นได้กับเด็ก และยังเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ยากต่อการตรวจวินิจฉัย โดยทั่วไปอาการที่เกิดกับเด็กจะส่งผลทำให้เกิดอาการอื่นๆ เช่น

  • มีพฤติกรรมและลักษณะซุกซน ไม่อยู่นิ่ง (Hyperactivity) ควบคุมยาก ไม่รับฟังคำสั่ง ตัดสินใจเร็ว
  • ผลการเรียนในโรงเรียนไม่ดี (Poor school performance) รับรู้ได้ช้า
  • เป็นเด็กที่ปัสสาวะรดที่นอน (Bed wetting) บ่อยๆ
  • มีอาการละเมอหรือฝันร้าย และมีอาการผวา (Night terror) ช่วงเวลานอนหลับ
  • เป็นเด็กที่มักมีเหงื่อออกมากในตอนกลางคืนหรือระหว่างนอนหลับ
  • เด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ มักจะมีพฤติกรรมหายใจผ่านทางปากแทนจมูกในช่วงระหว่างวัน

3. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในหญิงตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้

สาเหตุอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ เช่น ท้องโตขึ้น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย การสูบฉีดเลือด ระบบไหลเวียนของเลือด

ซึ่งการสูบฉีดและการไหลเวียนของเลือดที่มากขึ้น จะไปกระตุ้นเส้นเลือดในโพรงจมูก อาจทำให้เส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก และบวม ส่งผลให้เวลานอนจะรู้สึกหายใจไม่สะดวก และเกิดเสียงกรน ทำให้นอนหลับไม่สนิทแม้นอนพักผ่อนมากแต่ประสิทธิภาพการนอนลดลง ทำให้ง่วงนอนตลอดเวลา

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในหญิงตั้งครรภ์

จะทราบได้อย่างไรว่าคุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ?

สำหรับปัญหาสุขภาพของคุณแม่ตั้งครภ์ ที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ จะสังเกตได้จากการนอน หากมีอาการนอนกรน อาจมีอาการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่ว ทรวงอกหรือช่องท้องจะหยุดเคลื่อนไหวไปประมาณ 5-10 วินาทีต่อครั้ง และเป็นต่อเนื่องตลอดการนอนหลับ ถือว่าอยู่ในขั้นอันตรายควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและหาแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง

อันตรายต่อสุขภาพแม่และลูกจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

หากคุณแม่ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์พบความผิดปกติ เช่น มีอาการนอนกรนหรือกรนมากขึ้น หายใจผิดจังหวะ นอนสะดุ้งตื่นบ่อยๆ กลางวันง่วงนอนมาก ง่วงนอนตลอดเวลาโดยหาสาเหตุไม่ได้ หลับโดยไม่รู้ตัวได้เสมอ ควรไปตรวจภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เพราะเมื่อร่างกายขาดออกซิเจนบ่อยๆ จะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ ระบบปอด ทำให้เกิดความดันสูง และเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ

การดูแลและป้องกันตนเองจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การป้องกันตนเองจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับทำได้หลายวิธี สิ่งแรกคือต้องหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความกังวลใจ ความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้นอนไม่หลับ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป ป้องกันอาการนอนกรนหากมีอาการที่รุนแรง (อ่านเพิ่มเติม: อาการนอนกรนเกิดจากอะไร?) เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

และที่สำคัญเมื่อทราบว่าเป็นโรคนี้แล้วควรต้องระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงแทรกซ้อน การลดอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง อย่างเช่น อาหารหวานจัด เค็มจัด และไขมันต่างๆ เป็นต้น

การดูแลตนเองจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

สรุป

อาการนอนกรน แม้จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่อาการนอนกรนที่มีความรุนแรงก็เป็นปัญหาต่อสุขภาพได้ หากพบความผิดปกติหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับต้องพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ และขอคำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีต่อไป

New call-to-action
New call-to-action

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *