อุปกรณ์แก้นอนกรนมีกี่แบบ? เลือกแบบไหนดี?
สวัสดีครับ วันนี้เราจะมาพูดถึงอุปกรณ์แก้นอนกรนชนิดต่างๆ กัน ในปัจจุบันถ้าท่านลองค้นหาในอินเทอร์เนตก็จะพบอุปกรณ์สำหรับรักษาอาการนอนกรนอยู่มากมายหลายชนิด แต่จริงๆ แล้วอุปกรณ์ที่ทางการแพทย์ยอมรับเป็นมาตรฐานในการรักษา (Gold Standard) ตาม American Academy of Sleep Medicine (AASM) ของสหรัฐอเมริกา สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทเท่านั้น ได้แก่
1. เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือ PAP Devices (Positive Airway Pressure Devices)
เป็นอุปกรณ์ป้องกันการนอนกรนที่แพทย์มักจะแนะนำเป็นทางเลือกแรกๆ เสมอ เครื่องที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องแบบแรงดันเดียวทั้งในขณะหายใจเข้าและออก หรือที่เรียกว่าเครื่องช่วยหายใจ CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) การใช้งานจะใช้ร่วมกับ หน้ากาก CPAP ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เป็นแบบครอบเฉพาะจมูก หรือ Nasal Mask
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะใช้เป็นเครื่องประเภทนี้ ยกเว้นในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการซับซ้อน หรือมีอาการกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับขั้นรุนแรงมาก และต้องใช้แรงดันในการรักษาสูง ซึ่งการใช้เครื่อง CPAP จะทำให้อึดอัดมากจนไม่สามารถทนได้ แพทย์ก็จะแนะนำเป็นเครื่องอีกประเภทหนึ่งคือ เครื่องช่วยหายใจชนิดแรงดันสองระดับ หรือ BiPAP (Bi-level Positive Airway Pressure) ซึ่งสามารถตั้งค่าให้แรงดันในจังหวะหายใจออกน้อยกว่าแรงดันหายใจเข้าได้อย่างอิสระ
หลักการของเครื่อง CPAP คือจะปล่อยแรงดันอากาศเข้าไปผ่านทางหน้ากากครอบจมูก เพื่อไปถ่างเนื้อเยื่อในช่องคอ เช่น โคนลิ้น เพดานอ่อน ให้กว้างขึ้น มีผลทำให้ไม่เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea; OSA)
เครื่อง CPAP หรือ BiPAP เองก็ยังแบ่งย่อยออกได้เป็นแบบแรงดันคงที่ (Manual CPAP) และแบบอัตโนมัติ (Auto CPAP) ซึ่งเครื่องแบบ Manual นั้นจะให้แรงดันคงที่ตลอดเวลาตามที่เรากำหนดไว้ การเปลี่ยนแรงดันต้องทำด้วยมือ คือผู้ใช้งานหรือแพทย์จะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงค่าแรงดันตามความเหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยการวินิจฉัยอื่นๆ ประกอบด้วย ว่าสมควรเพิ่มหรือลดแรงดัน มากน้อยเท่าใด
ส่วนเครื่องชนิด Auto นั้น เครื่องจะปรับแรงดันให้เองโดยอัตโนมัติ ผู้ใช้เพียงแค่กำหนดช่วงของแรงดันไว้เท่านั้น ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องได้รับแรงดันมากหรือน้อยเกินไป เนื่องจากอาการกรนหรือหยุดหายใจของเรานั้นจะไม่คงที่เท่ากันตลอดทั้งคืน
ดังนั้นการใช้เครื่อง Auto CPAP (หรือ Auto BiPAP) จะทำให้ผู้ใช้ไม่อึดอัดเท่าเครื่องแบบแรงดันคงที่ หรือเครื่อง Manual นอกจากนี้หากในอนาคตสภาพร่างกายเรามีการเปลี่ยนแปลง เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดลง หรืออาการเราดีขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องมาปรับค่าแรงดันด้วยมืออยู่บ่อยๆ อีกด้วย
2. อุปกรณ์ในช่องปาก (Oral Appliance)
ตามหลักมาตรฐานสากลแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ใช้อุปกรณ์แก้นอนกรนชนิดแรกคือเครื่อง CPAP (หรือ BiPAP ในบางกรณี) ก่อนเสมอ แต่หากผู้ป่วยปฎิเสธการใช้เครื่อง หรือใช้แล้วไม่ได้ผล แพทย์ก็อาจแนะนำเป็นอุปกรณ์ลดการนอนกรนแบบใส่ในช่องปาก หรือ Oral Appliance ได้ เช่น ที่ครอบฟันแก้นอนกรน เป็นต้น
หลักการของอุปกรณ์ป้องกันการนอนกรนประเภทนี้ก็จะคล้ายกับเครื่อง CPAP คือจะไปดึงเนื้อเยื่อส่วนโคนลิ้นให้ยกขึ้น เช่น ที่ครอบฟันก็จะดึงขากรรไกรล่างให้ยื่นออกมา ซึ่งขากรรไกรล่างนี้ก็จะไปดึงโคนลื้นอีกทีนึง แต่ทั้งนี้อุปกรณ์ประเภทนี้ก็มีข้อจำกัด เพราะเราไม่สามารถดึงขอกรรไกรล่าง หรือดึงลิ้นให้ยื่นออกมาได้มากตามต้องการ
ดังนั้นจึงใช้รักษาได้แค่อาการนอนกรนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ ในระดับน้อยถึงปานกลางเท่านั้น ในขณะที่เครื่อง CPAP สามารถใช้รักษาได้ทุกระดับอาการ นอกจากนี้การดึงขากรรไกรล่างนั้น หากทำมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการเจ็บขากรรไกร หรือขากรรไกรอักเสบได้ ดังนั้นการใช้อุปกรณ์แก้การนอนกรนในช่องปากต่างๆ จะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรติดตั้งหรือซื้อมาใช้งานเองครับ
อุปกรณ์ลดการนอนกรนทั้งสองชนิดข้างต้น จัดเป็นวิธีการรักษานอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ที่เป็นมาตรฐานตามหลักการแพทย์ อย่างไรก็ตามในท้องตลาดหรือตามอินเตอร์เน็ต ท่านอาจเห็นอุปกรณ์นอนกรนแบบอื่นๆ ที่โฆษณาอ้างว่าสามารถแก้นอนกรนได้อยู่มากมาย อุปกรณ์เหล่านั้นบางอันก็ทุเลาอาการกรนหรือเสียงกรนได้บ้าง บางอันก็ใช้ไม่ได้ผลเลย ซึ่งหากท่านไปพบแพทย์ แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้เลย
ในบทนี้ผมกล่าวถึงประเภทการรักษานอนกรนด้วยอุปกรณ์เท่านั้น ซึ่งแพทย์อาจแนะนำวิธีการรํกษาอื่นๆ ที่ไม่ใช้อุปกรณ์ได้ เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการผ่าตัด ซึ่งรายละเอียดต่างๆ สามารถหาอ่านได้ในบทความอื่นๆ ของผมครับ
หากท่านต้องการพบแพทย์ด้านการนอนกรนโดยเฉพาะ คลิกดูรายชื่อโรงพยาบาลรักษาอาการนอนกรนในเขตกรุงเทพ
สนใจผลิตภัณฑ์เครื่องช่วยนอนกรน ของบริษัทโดยเฉพาหน้ากากแบบครอบจมูกและเจลที่แปะที่หน้าผาก และสายรัดที่ครอบจมูก สนใจเป็นพิเศษคือสายรัดแบบสั้นที่วางเครื่องTranscent ขอทราบราคาและวิธีการใช้ด้วยครับ
ขอบคุณสำหรับข้อความนะครับ รบกวนโทรหาเราที่เบอร์ 02-462-6441, 082-2233-710 ในเวลาทำการ หรือ Line: @nksleepcare เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในรายละเอียดครับ
ปรึกษานอนกรน
สวัสดีครับ รบกวนติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เบอร์ 02-460-9241 ขอบคุณครับ