แนวทางการรักษานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก

การรักษานอนกรนในเด็ก

เด็กที่นอนกรนตั้งแต่ 3 คืนต่อสัปดาห์ขึ้นไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่มีความผิดปกติบางอย่าง เช่น เลี้ยงไม่โต มีปัญหาทางด้านพฤติกรรม การเรียนแย่ลง ปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยว่ามี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea; OSA) หรือไม่เพื่อทำการรักษาต่อไป

โดยในเบื้องต้นเด็กที่นอนกรนควรหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ มลภาวะ และสารกระตุ้นภูมิแพ้ต่างๆ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอาการ แน่นจมูก และทำให้อาการแย่ลง สำหรับรายที่มีน้ำหนักมากควรลดความอ้วน และ ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ ส่วนต้นควรให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีวิธีการรักษาเด็กที่มีปัญหานี้ที่มีประสิทธิภาพสูง ได้หลายวิธี ได้แก่

1. การรักษาโดยการผ่าตัดการผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์

เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยทั่วไปแล้วการผ่าตัดนี้จะช่วยให้อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) ดีขึ้น และลดจํานวนครั้งของการหยุดหายใจ (Apnea) / หายใจแผ่วจากการอุดกั้น (Hypopnea) อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติราวร้อยละ 85-90

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงบางกลุ่มเช่น เด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดรุนแรง เด็กอ้วน โครงสร้างใบหน้าผิดปกติ หรือมีโรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เด็กที่เป็น Down syndrome ผนังกั้นจมูกคด และเยื่อบุจมูกบวมมาก อาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับเหลืออยู่หลังผ่าตัด ดังนั้นการติดตามอาการของผู้ป่วยจึงมีความจําเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเหล่านี้

สำหรับการผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดินอยด์นั้น จะทำภายใต้การดมยาสลบ และโดยทั่วไปมีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงน้อยมาก อย่างไรก็ตาม 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ต้องเฝ้าระวังปัญหาเลือดออกจากตําแหน่งผ่าตัด อาการคลื่นไส้อาเจียน ภาวะขาดน้ำซึ่งอาจเกิดจากเจ็บแผลและรับประทานอาหารได้น้อยในบางราย และบางครั้งอาจหายใจลำบากและยังมีเสียงกรนใน 2-3 วันแรก

ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมอย่างน้อย 1-2 วัน ซึ่งแพทย์จะให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวต่อไป และหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อรับการประเมินอาการตามที่นัด

ซึ่งอาจมีการตรวจทดสอบการนอนหลับตามความเหมาะสมของแต่ละรายต่อไป สำหรับภาวะแทรกซ้อนระยะยาวเช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยขึ้นหลังผ่าตัดไปแล้ว พบได้น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเด็กได้รับวัคซีนครบตามกำหนด

นอกจากการผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์แล้ว ยังมีการรักษาโดยการผ่าตัดอื่นๆ เช่น การจี้เยื่อบุในจมูกด้วยความถี่วิทยุ การผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของโครงสร้างใบหน้าในรายที่ผิดปกติ หรือการเจาะคอ รวมถึงการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักในเด็กที่อ้วนมาก เป็นต้น ซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมในผู้ป่วยเป็นการเฉพาะรายๆไป

ปัญหานอนกรนในเด็ก

2. การรักษาโดยการใช้ยา

เช่น ยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ (Nasal corticosteroids) ยาแก้ภูมิแพ้ หรือยาลดน้ำมูก (anti-histamine) และยากลุ่ม montelukast ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ในผู้ป่วยเด็กที่นอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่รุนแรงน้อย การใช้ยาเหล่านี้นานต่อเนื่อง 6-12 สัปดาห์ จะช่วยให้อาการและดัชนีการหยุดหายใจ หรือ การหายใจแผ่วขณะหลับดีขึ้นได้

จึงอาจใช้ยาเหล่านี้เป็นการรักษาเบื้องต้น ซึ่งหากไม่ดีขึ้นในเวลาดังกล่าว เด็กควรได้รับการตรวจการนอนหลับ (ถ้าทำได้) หรือส่งต่อให้พบแพทย์เฉพาะทางด้าน หู คอ จมูก เพื่อพิจารณาผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดินอยด์ต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีโรคในระดับที่รุนแรง เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าการผ่าตัดแต่เนิ่น ๆ จะมีผลต่อการทำงานของสมองและประสิทธิภาพการเรียนรู้ที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามหากหลังผ่าตัดแล้วยังมีอาการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับเหลืออยู่ อาจพิจารณาใช้ยาเหล่านี้อีกได้เช่นกัน

3. การรักษาโดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (Continuous Positive Airway Pressure หรือ CPAP)

จัดเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา อย่างไรก็ตามเด็กอาจมีปัญหาในความร่วมมือในการรักษา และอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาได้ ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง แต่ควรให้เด็กได้รับการดูแล โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยตรงต่อไป

4. การรักษาโดยวิธีอื่นๆ

เช่น การให้ออกซิเจนขณะหลับ การใช้เครื่องมือในช่องปาก (Oral Appliance) หรือการจัดฟันเพื่อขยายกรามด้านบน (Rapid Maxillary Expansion; RME) อาจเหมาะสําหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เช่น ผู้ป่วยที่มีขากรรไกรบนแคบมาก สบฟันผิดปกติ หรือมีความพิการผิดรูปของกะโหลกศีรษะและใบหน้า อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ในผู้ป่วยเด็กยังมีน้อยมาก ดังนั้นจึงต้องรอข้อมูลการศึกษาต่อไปในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีรายงานเพียงพอเกี่ยวกับผลการรักษาและภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว

แนะนำโรงพยาบาลรักษาอาการนอนกรนในเขตกรุงเทพ

ที่มา:
จากบทความเรื่อง แนวทางการรักษานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine, Certified International Sleep Specialist
ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

หมายเหตุ เนื้อหาทั้งหมดในบทความนี้ ทางบริษัทฯได้รับความยินยอมจากเจ้าของบทความในการเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หากผู้ใดต้องการคัดลอกเนื้อหาทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อไปเผยแพร่ในที่อื่นๆนอกเหนือจากเว็บไซต์ของบริษัทฯ กรุณาแสดงข้อความอ้างอิงถึงเจ้าของบทความและเว็บไซต์ของบริษัทฯด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

New call-to-action
New call-to-action

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *