ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อันตรายจากการนอนกรน

อันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การนอนทำให้ร่างกายของเราได้พักผ่อน และการนอนพักผ่อนที่ได้ผลดีต้องเป็นการหลับสนิทตลอดทั้งคืน เพราะทำให้ร่างกายได้ทำการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงานของระบบภายในร่างกาย แต่หากขณะที่นอนอยู่มี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากการกรนเกิดขึ้น การนอนหลับอาจไม่ใช่การพักผ่อนที่ดีที่สุดของร่างกายอีกต่อไป

นอนกรน…เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เมื่อนอนหลับพักผ่อน ร่างกายและกล้ามเนื้อทุกส่วนจะเกิดการคลายตัวเพื่อลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้นก็เช่นกัน เมื่อกล้ามเนื้อที่ระบบหายใจส่วนต้นเกิดการคลายตัว กล้ามเนื้อจึงหย่อนลงมาบังหลอดลมที่เป็นทางผ่านของอากาศ เมื่อหายใจเข้าและหายใจออก ทำให้เกิดเสียงดังหรือที่เรียกว่าเสียงกรน

อาการกรนธรรมดาอาจไม่เป็นอันตราย นอกจากเป็นปัญหาจากเสียงกรนรบกวนคนอื่นๆ หรือทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง หากต้องทำกิจกรรมที่ต้องนอนหรือพักรวมกับคนอื่นๆ ยกเว้นคนที่มีอาการกรนขั้นรุนแรงที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจจะต้องพบแพทย์หรือใช้เครื่อง CPAP ช่วยรักษาการนอนกรน

อันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อาการนอนกรนพบได้มากในผู้สูงอายุที่กล้ามเนื้อเกิดการหย่อนยาน คนอ้วนและสตรีที่ตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติม อาการนอนกรนเกิดจากอะไร? ) แม้ว่าอาการนอนกรนจะเป็นเรื่องปกติที่พบได้ แต่หากมีความรุนแรงจนทำให้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงและมีภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น

1. ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการกรนที่ทำให้หยุดหายใจขณะหลับจะทำให้รู้สึกตัวตื่นอยู่ตลอดทั้งคืน ส่งผลให้นอนกลับไม่สนิท ร่างกายจึงไม่สามารถหลั่งโกรทฮอร์โมน (Human Growth Hormone) ที่มีหน้าที่ในการซ่อมแซมและฟื้นฟูระบบเมตาบลิซึมของร่างกายให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพออกมาได้ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียสะสม มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับทำให้หลับใน

2. เป็นโรคอ้วน

เมื่อร่างกายหยุดหายใจ ออกซิเจนที่ส่งเข้าสู่สมองจะมีปริมาณน้อยลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองส่วนควบคุมการทำงานของระบบต่างภายในร่างกายลดลง โดยเฉพาะส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระบบการเผาพลาญไขมัน หากร่างกายมีการเผาพลาญไขมันน้อยลง ไขมันก็จะสะสมอยู่ในร่างกายเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์จะมีความผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) ส่งผลให้กระบวนการเผาพลาญพลังงานทำงานน้อยลง ร่างกายจึงเกิดอาการบวมและอ้วนจนกลายเป็นโรคอ้วนได้

3. เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ปัญหาต่อสุขภาพที่เกิดจากการนอนกรน เมื่อมีอาการที่รุนแรงหรือมีภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ จะส่งผลให้สมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการสร้างฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนจะทำงานน้อยลง เมื่อปริมาณฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนที่ผลิตออกมาน้อย จึงส่งผลให้สมรรถภาพและความต้องการทางเพศลดลงตามไปด้วย

4. โรคความดันโลหิตสูง

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับทำให้ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำ ในขณะที่ความต้องการออกซิเจนตามอวัยวะของร่างกายไม่ได้ลดลงตามปริมาณออกซิเจนที่น้อยลง ทำให้หัวใจต้องทำการสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่างๆเพื่อให้เพียงพอต่อระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย หัวใจต้องทำการบีบตัวแรงขึ้นเพื่อส่งออกซิเจนไปยังอวัยวะของร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

5. โรคหัวใจเนื่องจากความดันโลหิตสูง

เมื่อหัวใจต้องทำงานหนัก เพื่อส่งเลือดไปสู่สมองและอวัยวะต่าง กล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานหนักมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้กล้ามเนื้อเสื่อมสภาพลง ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เหมือนเดิม ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยหอบและมีความเสี่ยงที่หัวใจจะเกิดภาวะหยุดเต้นเฉียบพลันหรือภาวะหัวใจล้มเหลวได้

6. โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งเมื่อเจอกับหลอดเลือดที่มีความเปราะบาง ก็อาจทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นโป่งพองและแตกออก ซึ่งอันตรายเป็นอย่างมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้ หรือหากไม่ถึงชีวิต ก็อาจทำให้กลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

7. โรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม เป็นผลมาจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจนไปชั่วขณะ ซึ่งหากสมองมีภาวะขาดออกซิเจนถึงแม้ว่าระยะเวลาสั้น แต่มีการขาดออกซิเจนเป็นประจำจะทำให้เซลล์และเส้นใยประสาทของสมองเกิดการเสื่อม ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง เรียนรู้ช้า ไม่มีสมาธิและความจำน้อยลง

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้เสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดโดยตรง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต หรือมีผลทำให้เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

นอนกรนทำให้อ่อนเพลียตอนทำงาน

สรุป

การหยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากการนอนกรน เป็นภาวะที่สามารถเกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตได้ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา อาการนอนกรนที่อยู่ในขั้นปานกลางหรือรุนแรง นอกจากทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและโรคเรื้อรังที่ทำให้ต้องกินยาไปตลอดชีวิต ดังนั้นหากมีอาการตัวสะดุ้งตื่นและรู้สึกหายใจเหนื่อยหอบ ตื่นนอนแล้วรู้สึกอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการง่วงนอนตลอดเวลา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาหรือวินิจฉัยโรคเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

New call-to-action
New call-to-action

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *