การตรวจการนอนหลับที่บ้าน (Home Sleep Test)
หากท่านสงสัยว่าตัวเองอาจมีอาการนอนกรนชนิดอันตราย หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ร่วมด้วย และต้องการตรวจการนอนหลับเพื่อยืนยัน วินิจฉัยหาสาเหตุ และวัดระดับความรุนแรงของอาการ แต่พบว่าตัวเองไม่อยากไปนอนตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ราคาแพง ไม่สามารถนอนหลับในที่ที่ไม่คุ้นเคยได้ ฯลฯ ผมขอแนะนำ การตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบละเอียด เป็นทางเลือกของท่านครับ
การตรวจการนอนหลับที่บ้าน เหมือนหรือแตกต่างจากการตรวจในโรงพยาบาลอย่างไร
การตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบละเอียด (Home Polysomnography / Type 2 Home Sleep Test) มีข้อเหมือนและแตกต่างกับการตรวจในโรงพยาบาล หลักๆ แล้วมีดังนี้ครับ
- เป็นการตรวจในระดับความละเอียดที่เทียบเท่ากัน
การตรวจที่บ้านและที่โรงพยาบาล จะมีการวัดสัญญาณต่างๆ ที่จำเป็นและเป็นไปตามข้อบังคับจากสมาคมแพทย์โรคจากการหลับของสหรัฐอเมริกา (AASM) เหมือนกัน เช่น การวัดสัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลูกตา (EOG) การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อคาง (EMG) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของทรวงอก เป็นต้น - ได้รับการวิเคราะห์โดยเจ้าหน้าที่เทคนิค (Sleep Technician) ที่ผ่านการอบรม และอ่านสรุปผลโดยแพทย์ด้านการนอนหลับโดยเฉพาะเหมือนกัน
- การตรวจที่บ้านจะใข้เครื่องมือแบบพกพา
ซึ่งเป็นเครื่องตรวจที่สามารถวัดสัญญาณได้เหมือนเครื่องขนาดใหญ่ในโรงพยาบาล เพียงแต่อาจมีเฉพาะช่องสัญญาณที่จำเป็น และเป็นไปตามข้อบังคับของ AASM เท่านั้น โดยจะมีขนาดเครื่องที่เล็กลงมาก สามารถรัดติดกับตัวผู้ที่รับการตรวจได้ ทำให้สามารถเดิน หรือทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือได้สะดวก - การตรวจที่บ้านจะไม่มีคนเฝ้า
ซึ่งแตกต่างกับการตรวจในห้องของโรงพยาบาลที่จะมีคนเฝ้าตลอดทั้งคืน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการตรวจที่บ้านผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถจะมีคนไปเฝ้าในห้องนอนของผู้ป่วยได้ จุดประสงค์ที่ต้องมีคนเฝ้าก็คือเพื่อคอยดูแลไม่ให้อุปกรณ์ต่างๆ หลุดออกมาระหว่างการตรวจ แต่ทั้งนี้การตรวจที่บ้านจะใช้เครื่องขนาดพกพา ซึ่งรัดติดกับตัวผู้ป่วยอย่างแน่นหนา หากเจ้าหน้าที่มีความชำนาญและผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดี อุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็จะมีโอกาสหลุดได้ยากมากครับ
ข้อดีของการตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบละเอียด (Type 2 Home Sleep Test)
- มักมีราคาถูกกว่าการตรวจในโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้ผ่อนคลายและสนิทมากกว่า เนื่องจากได้นอนในห้องนอนของตัวเอง
- มีความเป็นส่วนตัวเพราะไม่ต้องมีคนเฝ้าดูเราตอนนอน บางท่านอาจนอนไม่หลับหากมีคนมานอนเฝ้า
- ผลการตรวจที่ได้มีความแม่นยำ และใกล้เคียงกับการนอนในภาวะปกติของเรามากที่สุด
- บางท่านนอนไม่หลับ หรือหลับได้ไม่นาน หรือนอนหลับไม่ต่อเนื่อง ทำให้ผลตรวจมีความคลาดเคลื่อน บางกรณีอาจต้องทำการตรวจใหม่อีกครั้ง ทำให้เสียเงินเพิ่มมากขึ้น
- ท่านสามารถนำผลตรวจที่ได้รับ ไปปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลตามที่ท่านต้องการได้ แต่หากท่านตรวจในโรงพยาบาลท่านก็จะต้องพบแพทย์ในโรงพยาบาลนั้นๆเท่านั้น
- ไม่ต้องรอคิวตรวจนาน ในโรงพยาบาลของรัฐบางแห่งมีคิวรอตรวจนานหลายเดือน ซึ่งในบางกรณีผู้ป่วยไม่สามารถรอได้ เช่น ผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่ต้องได้รับการตรวจอย่างเร่งด่วน
- ผู้ป่วยบางท่านไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้หรือเคลื่อนย้ายไม่สะดวก เช่น เป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ไม่แข็งแรง หรืออายุมาก เป็นต้น การตรวจการนอนหลับที่บ้านจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในกรณีนี้
การตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบประหยัด (Type 3 Home Sleep Test)
การตรวจการนอนหลับที่บ้านที่ผมกล่าวมาข้างต้นจะเป็นการพูดถึงการตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบละเอียด (Type 2 Home Sleep Test) ซึ่งเป็นการตรวจที่มีความละเอียดเทียบเท่ากับการตรวจในโรงพยาบาลเพียงแต่ไม่มีคนเฝ้า แต่นอกจากนี้แล้วยังมีการตรวจที่บ้านอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมพอๆกัน นั่นก็คือการตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบประหยัด หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Type 3 Sleep Test หรือการตรวจการนอนหลับแบบคัดกรอง (Sleep Screening)
การตรวจแบบประหยัดนี้จะมีจำนวนช่องสัญญาณน้อยกว่าแบบข้างต้น โดยหลักๆคือจะตัดการวัดสัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมองออกไป โดยตามหลักเกณฑ์ของ AASM จะประกอบด้วย
- ลักษณะลมหายใจ (Airflow) เพื่อหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- เสียงกรน (Snore)
- การเคลื่อนไหวของทรวงอก (Chest Respiratory effort)
- การเคลื่อนไหวของช่องท้อง (Abdominal Respiratory effort)
- ระดับออกซิเจนในเลือด (Oxygen saturation)
- ชีพจร (Pulse)
- ท่าทางการนอน (Body position) เข่น นอนหงาย ตะแคงซ้าย ขวา
การตรวจแบบนี้จะเน้นพิเศษที่การหายใจและระบบหัวใจ กล่าวโดยรวมๆ คือจะมีการตรวจวัดสัญญาณต่างๆ คล้ายกับการตรวจการนอนหลับในโรงพยาบาล แต่ไม่มีการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) กล้ามเนื้อลูกตา (EOG) และกล้ามเนื้อคาง (EMG) จึงไม่สามารถบอกได้ว่าผู้รับการตรวจอยู่ในระยะการนอนหลับหรือตื่น (Sleep stage) มากน้อยเพียงใด หรือการนอนหลับมีประสิทธิภาพดีหรือไม่
แต่อย่างไรก็ดี การตรวจแบบนี้สามารถทำได้สะดวกและรวดเร็วกว่าแบบอื่น เนื่องจากมีอุปกรณ์น้อยกว่า ซึ่งมีผลทำให้ผู้ที่รับการตรวจอึดอัดน้อยกว่าและหลับได้ง่ายกว่าด้วย
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ผู้ที่รับการตรวจแบบประหยัดนี้สามารถเบิกจ่ายค่าตรวจได้ ทำให้ปัจจุบันการตรวจการนอนหลับที่บ้านด้วยวิธีดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากประหยัดทั้งในเรื่องต้นทุนและกำลังคน อีกทั้งยังทำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนและสงสัยว่ามีหยุดหายใจขณะหลับได้รับความสะดวกสบาย และสามารถเข้าถึงการตรวจได้มากยิ่งขึ้น
ผู้ที่เหมาะกับการตรวจแบบ Type 3 นี้ ได้แก่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea; OSA) ในระดับความรุนแรงตั้งแต่ปานกลางขึ้นไป แต่ไม่สามารถรอคิวนานๆได้ นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับใช้ในการตรวจติดตามผลการรักษาหลังการผ่าตัด การใช้เครื่องอัดอากาศ CPAP หรือการลดน้ำหนักได้
แต่อย่างไรก็ดี การตรวจวิธีนี้ก็มีโอกาสที่ผลตรวจจะคลาดเคลื่อนได้บ้าง ดังนั้นผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับแต่ผลการตรวจด้วยวิธีนี้ไม่พบความผิดปกติ หรือผู้ที่มีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคระบบประสาทกล้ามเนื้อ หรือผู้ที่สงสัยว่าจะมีโรคความผิดปกติจากการนอนหลับอื่นๆ เช่น โรคขากระตุกขณะหลับ โรคลมหลับ ควรได้รับการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน (Type 2) เท่านั้น
สรุป
การตรวจการนอนหลับที่บ้าน นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีอาการนอนกรน และสงสัยว่าจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เพราะมีข้อดีต่างๆ มากมาย เช่น ราคาประหยัด ไม่ต้องรอคิวนาน นอนหลับได้สนิทมากกว่าเพราะได้นอนในสถานที่ที่คุ้นเคย ทำให้ผลการตรวจใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่า แต่อย่างไรก็ดี การตรวจแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนั้นก่อนตัดสินใจท่านควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับก่อน เพื่อให้แพทย์ประเมินและเป็นผู้พิจารณาว่าท่านควรจะรับการตรวจแบบไหนต่อไปครับ