หลับอย่างไรให้เป็นสุขและชะลอวัยในสถานการณ์โควิด-19
จากการระบาดของโควิด-19 หลายคนประสบกับเหตุการณ์ที่ปลอดจากงานมากขึ้น ความวุ่นวายจากงานที่ลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์ และกิจกรรมทางกาย ตลอดถึงคุณภาพและปริมาณการหลับ ไม่ว่าจะเป็นการนอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินระยะเวลาที่ควรจะเป็นในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่งผลเสีย กระทบต่อสุขภาพโดยรวม
การหลับที่มีคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง ทั้งระบบฮอร์โมน, การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน, ช่วยให้สมองและระบบประสาทมีการตอบสนองที่รวดเร็วและถูกต้อง ให้ร่างกาย ความคิด และอารมณ์สงบได้อย่างสมดุล และช่วยชะลอวัย ในช่วงระยะการหลับลึก ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและส่วนสึกหรอจะได้รับการฟื้นฟู
ระยะหลับฝัน ทักษะต่างๆจะได้รับการเปลี่ยนให้เป็นความจำระยะยาว รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น การปรับแรงดันโลหิต และอัตราการเต้นหัวใจ ก็จะได้รับการฝึกฝน บางคนที่ฝันน้อย หรือไม่ฝันเลย อาจเป็นสัญญาณเตือนความเสื่อมทางกายที่กำลังคืบคลานเข้ามา
อ่านเพิ่มเติม: วงจรการนอนหลับ (Sleep Cycle)
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีตารางการหลับที่สม่ำเสมอและเหมาะสมตามวัย
- ในวัยผู้ใหญ่ ช่วงเวลาหลับควรอยู่ที่ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มเข้านอนในช่วงระหว่าง 22 นาฬิกาถึงเช้า หรืออาจหลับเร็วขึ้น หากจำเป็นต้องตื่นแต่เช้ามืด
- การตื่นเข้าห้องน้ำ ไม่ควรเกินหนึ่งครั้งต่อคืน
- ตื่นเช้าต้องสดชื่นไม่มึนไม่ง่วง ไม่ปวดหัว และสะสมพลังงานได้สำหรับทั้งวัน
- การงีบหลับระหว่างวัน สามารถทำได้แต่ไม่เกิน 1 ครั้งต่อวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมง และไมเกิน 14 นาฬิกา เนื่องจากจะมีผลต่อความสามารถในการหลับเวลากลางคืน
แต่สำหรับผู้ที่มีเวลาหลับ หรือลักษณะการหลับ ไม่เป็นไปตามนี้ อย่านิ่งนอนใจ เพื่อให้มีความถูกต้องและเหมาะสมต่อสุขภาพ หากต้องการคำปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการหลับยินดีให้คำแนะนำ และดูแลทั้งกายและสภาวะทางอารมณ์เสมอ
บทความโดย พญ.ณิรัชดา ทรัพย์อนันต์
ประสาทแพทย์ผู้เชียวชาญเรื่องลมชัก และเรื่องการนอนหลับ
โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา