อาการนอนไม่หลับ สาเหตุ และอันตรายที่มีผลต่อสุขภาพ

อาการนอนไม่หลับ

หากลองสอบถามหลายๆ ท่านเกี่ยวกับปัญหาการนอน หนึ่งในอาการที่คนเป็นกันมากคืออาการนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่หลายๆคนอาจไม่รู้ตัว เช่นระหว่างวันจะรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา  บางครั้งเมื่อถึงเวลาพักผ่อนรู้สึกอยากนอน แต่ไม่สามารถหลับได้ หรือหลับไม่ต่อเนื่อง หลับๆ ตื่นๆ เมื่อตื่นนอนอาการที่ตามมาก็คือรู้สึกอ่อนเพลียโดยไม่รู้ตัว  ขาดสมาธิ อารมณ์เสียหงุดหงิดง่าย อาการนอนไม่หลับมีสาเหตุเกิดจากอะไร มีอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่อย่างไร บทความนี้มีคำแนะนำครับ

อาการนอนไม่หลับเกิดจากอะไร?

อาการนอนไม่หลับ หรือ โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) เป็นภาวะหลับไม่พอ หลับยาก ในช่วงเวลาพักผ่อนใช้เวลามากกว่า 30 นาทียังไม่หลับ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • เกิดจากอาการเจ็บป่วยมีปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  • เกิดจากความเครียดมีความวิตกกังวลใจจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
  • อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน นิโคติน หรือแอลกอฮอล์มากเกิน
  • ความอ่อนเพลียจากการเดินทาง
  • มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น เป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง
  • โรคความผิดปกติในการนอนหลับอื่นๆ เช่น นอนกรนในขั้นรุนแรง จนมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การนอนไม่หลับจากสาเหตุเหล่านี้ เมื่อปัญหาหรือสาเหตุเหล่านี้หมดไป อาการนอนไม่หลับก็มักหายไปเอง ยกเว้นการนอนไม่หลับติดต่อกันนานมากกว่า 1 เดือน ถือเป็นอาการเรื้อรังที่ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษา

รู้อย่างไรว่าเป็นโรคนอนไม่หลับ?

เชื่อว่าหลายๆคนมีอาการผิดปกติที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ เช่น รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา ในช่วงที่ไม่ใช่เวลานอน หรือเมื่อถึงเวลานอนกลับหลับยาก ตื่นขึ้นมารู้สึกไม่สดชื่น อ่อนเพลียง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้อาจทำให้เข้าใจผิดและกังวลใจว่าเป็นอาการของโรคร้ายแรงอื่นๆ

โดยปกติร่างกายของคนเราต้องการระยะเวลาในการนอนหรือพักผ่อนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอายุ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและพันธุกรรม เมื่อคุณภาพของการนอนไม่สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งหากเราเป็นโรคนอนไม่หลับร่างกายก็จะเริ่มส่งสัญญาณบ่งบอก ดังนี้

  1. ขอบตาหมองคล้ำ
  2. รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า โดยไม่ทราบสาเหตุ
  3. อารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย เหวี่ยงวีน โดยไม่มีเหตุผล
  4. ง่วงนอนตลอดเวลาและงีบหลับระหว่างวันบ่อยๆ
  5. หน้าตาอิดโรย ไม่สดชื่น ผิวหน้ามองคล้ำ ผิวพรรณไม่สดใส
  6. สมองไม่ปลอดโปร่ง มึนงง ขาดสมาธิในการทำงาน และการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
อาการนอนหลับไม่สนิท ขอบตาหมองคล้ำ

อันตรายจากการนอนไม่หลับที่มีผลต่อสุขภาพ

โรคนอนไม่หลับ นอกจากทำให้ง่วงนอนตลอดเวลา หรืองีบหลับณะทำงานทำให้การทำงานขาดคุณภาพและประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบแล้ว ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากอาการนอนไม่หลับยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายๆด้าน ดังนี้

  • เสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
  • อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นจากการทำงานเพิ่มขึ้นของระบบประสาทซิมพาเทติก และการทำงานที่ลดลงของระบบประสาทพาราซิมพาเทติก
  • เป็นปัจจัยทำให้เป็นโรคซึมเศร้า และมีความวิตกกังวลได้ในทุกๆเรื่อง
  • ส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

สรุป

อาการนอนไม่หลับ เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แม้โรคนอนไม่หลับที่ยังไม่อยู่ในภาวะนอนไม่หลับเรื้อรัง จะไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ และสามารถหายได้เองเมื่อปัจจัยที่ทำให้นอนไม่หลับหมดไป แต่ก็ส่งผลต่อวิถีการใช้ชีวิตหรือมีผลต่อหน้าที่การงานจากอาการง่วงนอนตลอดเวลา หรืองีบหลับในช่วงเวลางาน หากมีอาการนอนไม่หลับนานเกิน 1 เดือนก็จะกลายเป็นนอนไม่หลับเรื้อรังที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ การรู้ทันอาการของโรคนอนไม่หลับ ช่วยให้เราป้องกันและดูแลรักษาตนเองได้อย่างถูกวิธี

NK Sleepcare ขอแนะนำบทความที่เกี่ยวข้อง:

ท่าโยคะแก้ปัญหานอนไม่หลับ
9 ท่าโยคะแก้ปัญหานอนไม่หลับ