นอนไม่หลับ ส่งผลอย่างไรต่อสมอง
ถ้าคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังประสบปัญหา นอนไม่หลับ และไม่รู้ว่าปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อตนเองอย่างไรบ้าง NK Sleepcare มีคำตอบครับ
อาการนอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อตนเองอย่างไรบ้าง?
แน่นอนว่าอาการนอนไม่หลับย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพแย่ลง โรคแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น อ่อนเพลียและเมื่อยล้าได้ง่าย ป่วยง่ายขึ้น แต่คุณทราบหรือไม่ว่าอาการนอนไม่หลับนอกจจากจะส่งผลต่อร่างกายแล้วก็ยังส่งผลกระทบต่อสมองด้วยเช่นกัน
สมองส่วนใดบ้างมีความสัมพันธ์กับการนอนหลับ
สมองส่วนต่างๆ ล้วนมีหน้าที่ควบคุมการทำงานอวัยวะและระบบต่างๆ แตกต่างกันออกไป โดยสมองส่วนที่มีความสัมพันธ์กับการนอนหลับ ได้แก่
- สมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งอยู่ในสมองส่วนหน้า (Forebrain) ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของระบบประสาทอัตโนมัติ โดยจะทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การอัตราเต้นของหัวใจ ความดันเลือดและความต้องการพื้นฐานของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหาร การนอนหลับพักผ่อน รวมถึงการสร้างและควบคุมฮอร์โมนต่างๆ
- ก้านสมอง (Brain Stem) ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่ สมองส่วนกลาง (Midbrain), พอนส์ (Pons) และ เมดัลลาออบลองกาตา (Medulla oblongata) ก้านสมองจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมการนอนหลับ ความรู้สึกตื่นตัว หรือความมีสติสัมปชัญญะ
คุณทราบหรือไม่ว่าคลื่นสมองแบ่งออกเป็นกี่กลุ่ม?
คลื่นสมองของมนุษย์เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ
- คลื่นเบต้า (Beta waves) เป็นคลื่นชนิดความถี่ 14 ถึง 30 Hz. เป็นคลื่นสมองที่มีความถี่มากที่สุด เนื่องจากสมองกำลังถูกใช้งาน รับ-ส่งข้อมูลพร้อมประสาทสัมผัสทั้งหมดของมนุษย์ในการทำกิจกรรมต่างๆ ยิ่งกิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมที่ซับซ้อนและต้องใช้ความคิดเยอะ คลื่นความถี่ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
- คลื่นอัลฟ่า (Alpha waves) เป็นคลื่นชนิดความถี่ 8 ถึง 13 Hz. จะเกิดขึ้นเมื่อคนเรารู้สึกสงบและผ่อนคลาย สภาวะนี้จะทำให้สมองสามารถรับรู้ข้อมูล เรียนรู้และจดจำได้ดี พบได้ในผู้ที่มีสมาธิดี มีความสุข หรือเรียกได้ว่าเป็นสภาวะที่จิตมีประสิทธิภาพสูงนั่นเอง
- คลื่นธีต้า (Theta waves) เป็นคลื่นชนิดความถี่ 4 ถึง 7 Hz. เป็นการเข้าถึงและเรียกความทรงจำระยะยาวได้ดี คลื่นสมองสภาวะนี้เป็นคลื่นสมองที่สะท้อนการทำงานของจิตใต้สำนึก
- คลื่นเดลต้า (Delta waves) เป็นคลื่นชนิดความถี่น้อยกว่า 4 Hz. เป็นคลื่นสมองที่เกิดขึ้นในขณะนอนหลับ สมองทำงานตามความจำเป็น แต่กระบวนการของจิตใต้สำนึกจะจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องแทน ถือเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังพักผ่อนอย่างเต็มที่ หลับลึกโดยไม่มีความฝัน
โดยคลื่นสมองของมนุนษย์สามารถแบ่งได้โดยการใช้เครื่อง Electroencephalogram (EEG) ในการจับภาพสัญญาณไฟฟ้าบริเวณสมอง
รู้จักเครื่อง Electroencephalogram (EEG)
เครื่อง Electroencephalogram (EEG) ใช้สำหรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองโดยสามารถวัดกระแสไฟฟ้าได้จากบริเวณหนังศีรษะ เปลือกสมองหรือวัดกระแสไฟฟ้าจากส่วนลึกของสมอง กล่าวคือ เครื่อง Electroencephalogram (EEG) สามารถศึกษาและดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าในขณะนอนหลับ และสามารถวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับการหลับได้นั่นเอง
แล้วการนอนไม่หลับ ส่งผลกระทบต่อสมองยังไง?
- ความจำไม่ดี สามารถสังเกตได้ว่าวันไหนก็ตามที่เราอดนอน สมองจะไม่ค่อยแล่น คิดอะไรไม่ค่อยออก หลงๆลืมๆ มักใช้เวลานานกว่าปกติในการทำอะไรก็ตาม ยิ่งช่วงสอบหรือช่วงที่ทำโอทีนานๆ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในเรื่องการจดจำสิ่งต่างๆ ของเรา มีความเปลี่ยนแปลงไปมากและแย่ลง แตกต่างกับตอนที่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- อารมณ์แปรปรวน เคยไหมที่นอนหลับไปไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็ต้องตื่นขึ้นมาทั้งๆ ที่ยังนอนไม่เต็มอิ่ม ยังอยากนอนต่ออยู่แต่ก็ทำไม่ได้ ส่งผลให้วันนั้นมีอาการง่วงซึมตลอดวัน มีอะไรกวนใจนิดหน่อยก็ทำให้อารมณ์เสีย หงุดหงิดและโมโหได้ง่ายมากกว่าปกติ
- มีปัญหาด้านสุขภาพ แน่นอนว่าเมื่อนอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนไม่พอสะสม ก็จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัววิงเวียนศีรษะ รู้สึกหนักหัว หรืออาจลามไปถึงการรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนั้นน่าเบื่อ ไม่มีความสุขได้
สรุป
การนอนหลับ เป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการและควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ในความเป็นจริงและทางปฏิบัติแล้วนั้นก็ยังมีผู้คนเป็นจำนวนมากที่ละเลย ไม่ใส่ใจมากเท่าที่ควร ด้วยอาจจะคิดว่าอดนอนนิดหน่อยคงไม่เป็นไร ค่อยนอนชดเชยเอาทีหลังก็ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด
การนอนไม่หลับเป็นการรบกวนสมองในการพักผ่อน ทำให้นอนไม่พอ ไม่สดชื่นในเช้าวันใหม่ มีอาการงัวเงีย และหงุดหงิดง่ายตลอดวัน เนื่องจากการพักผ่อนน้อยจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการคิด ความจำ และการตัดสินใจ
นอกจากนี้ การนอนไม่เพียงพอจะทำให้ความสามารถในการใช้เหตุผล ทักษะการแก้ปัญหา การตัดสินใจ การประเมินสถานการณ์ และสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ลดลง ส่งผลให้ไม่สามารถเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้ และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
เรื่องที่คุณอาจสนใจ: โรคลมหลับ (Narcolepsy) คืออะไร?