Sleep lab ตรวจการนอนหลับ ตรวจการหยุดหายใจ
ใครจะเชื่อว่านอนกรนจะเสี่ยงต่อชีวิต โดยเฉพาะ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งพบได้ทุกเพศทุกวัย และบ่อยขึ้นในกลุ่มผู้ชาย คนอ้วน คนทําศัลยกรรมจมูก ใบหน้า คางให้เล็กลง รวมถึงผู้หญิงที่รับประทานหรือฉีดฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน อาจมีปัจจัยเสี่ยงทําให้ทางเดินหายใจยุบตัวขณะหลับ
นานๆเข้าจะเกิดโรคเรื้อรังตามมา จึงไม่น่าแปลกใจว่าคนไข้ที่มีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับจะมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน กรดไหลย้อน และหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น
ปกติการหายใจจะไม่มีเสียง แต่ถ้าหายใจแล้วมีเสียงเกิดขึ้น ปัญหาอาจจะมาจากช่องจมูกตีบแคบเหมือนเวลาเป็นหวัดคัดจมูก หรือช่องคอ เรียกว่า “เสียงกรน” สาเหตุเกิดจาก “มีการตีบของช่องคอ” เนื่องจากช่องคอจะมีลิ้นไก่ เมื่อหายใจลิ้นไก่จะสะบัดกลายเป็นเสียงกรน จึงไม่ใช่ภาวะปกติของคนทั่วไป
อ่านเพิ่มเติม: สาเหตุที่ทําให้เกิดอาการกรน
หากมีอาการผิดปกติ อาทิ หยุดหายใจเกิดขึ้น ออกซิเจนในเลือดตํ่า ส่งผลให้สมองตื่นตัว หลับไม่สนิท อ่อนเพลีย บ่งชี้ว่าเสียงกรนที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ซึ่งท่านควรได้รับการรักษาโดยการ ตรวจการนอนหลับ เพื่อแยกว่าผู้ป่วยเป็น กรนธรรมดา หรือกรนแบบหยุดหายใจ เนื่องจากการตรวจการนอนหลับจะบอกความรุนแรงของโรคได้ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากน้อยเพียงใด และช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาผู้ป่วยนอนกรนได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่มที่มีอาการกรนจากการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน 3 ชั่วโมงจะมีผลทําให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจยุบตัวมากขึ้น หากไม่มีปัญหาง่วงนอน เพลีย หรือปัญหาเรื่องความคิด ความจําถอดถอย อาจยังไม่จําเป็นต้องรักษา แต่ควรต้องติดตามอาการเป็นระยะ
โครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติแต่กําเนิด หรือ คนที่ผ่าตัดทําศัลยกรรมจมูก ใบหน้า คางให้เล็กลง อาจมีโอกาสนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ เพราะสรีระเปลี่ยนไปจากเดิม ทําให้ช่องจมูกปากและช่องคอเล็กลง
จากสถิติพบว่า ผู้ชายมีความผิดปกติของการนอนหลับมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากฮอร์โมนแอนโดรเจนเป็นตัวที่ทําให้การคงสภาพทางเดินหายใจของเพศชายทําได้น้อยกว่าเพศหญิง ทําให้โอกาสที่ผู้ชายจะหยุดหายใจขณะหลับได้มากกว่าผู้หญิง
นอกจากนี้ ความทนได้ของร่างกายผู้หญิงที่มากกว่า ทําให้มักจะแสดงอาการผิดปกติต่างๆไม่ชัดเจน แต่อาจมีอาการเพียงเล็กน้อยเช่น นอนหลับไม่สนิท ลืมง่ายมากขึ้น สภาวะอารมณ์เหนื่อย เศร้าซึม แต่ยังทํากิจกรรมต่างๆได้
ดังนั้น “เพศ” จึงเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการนอนหลับผิดปกติด้วย หรือแม้แต่ในกรณีผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนแอนโดรเจนมาก ก็ทําให้มีโอกาสที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ “อายุ” ถ้าเทียบกันในคนอายุน้อยกับอายุมาก กับคนที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะพบว่าเปอร์เซ็นต์ของภาวะการหยุดหายใจจะมากขึ้นตามอายุ
ปัจจัยเสี่ยงต่อมาคือเรื่องของความ “อ้วน” มีการสะสมไขมันมากขึ้น ทั้งภายในช่องคอ และรอบคอใหญ่ขึ้น ส่งผลให้เวลาหลับจะกดทับทางเดินหายใจ รวมทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างของใบหน้า บางคนจะคางเล็ก หรือว่าคางยุบ ทําให้ความกว้างในช่องปากลดลง โอกาสที่ลิ้นจะตกไปข้างหลังเวลาหลับมีโอกาสอุดทางเดินหายใจได้มากขึ้น หรือบางคนมีความผิดปกติของยีน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครโมโซม
การหยุดหายใจบ่อยๆ ทําให้สมองตื่นตัวส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท ความสามารถในการหลับลึกและหลับฝันน้อยลง
ซึ่งการนอนแต่ละระยะเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทํางานของร่างกาย เพราะการ “หลับตื้น” แค่เป็นการพักผ่อนเหมือนแค่งีบในช่วงกลางวัน แค่ผ่อนคลายทําให้สดชื่นขึ้น แต่ถ้าท่าน “หลับลึก” จะมีผลในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย และเกี่ยวข้องในเรื่องของความจํา จากระยะสั้นเปลี่ยนให้เป็นความจําระยะยาวได้ในช่วงหลับลึกเท่านั้น ซึ่งมีผลในการเรียน ส่วนช่วง “หลับฝัน” จะเป็นความจําในส่วนของทักษะ เช่น ขับรถอย่างไร เล่นกีฬาอย่างไร
แต่กรณีคนที่มีไอคิวเยอะอาจไม่รู้สึกมากนั้น เพราะมีต้นทุนเยอะกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ยังมีผลกระทบในระยะยาวทําให้มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน กรดไหลย้อน และหลอดเลือดสมองตามมา
ส่วนวิธีการรักษามีทั้งรับประทานยา ใช้ เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) ซึ่งแต่ละคนใช้แตกต่างกัน หรือการผ่าตัด เช่น กรณีเด็กมีต่อมทอนซิลใหญ่ในช่องคอทําให้มีโอกาสเกิดการอุดตัน ทําให้หยุดหายใจขณะหลับ ถ้าผ่าตัดก็มีโอกาสหายได้ ยกเว้นคนๆ นั้นมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อทางเดินหายใจยุบตัวมากผิดปกติด้วย หรือกรณีน้ำหนักเยอะหากลดน้ำหนักอาการอาจหายไปได้
บทความโดย พญ.ณิรัชดา ทรัพย์อนันต์
ประสาทแพทย์ผู้เชียวชาญเรื่องลมชัก และเรื่องการนอนหลับ
โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
หมายเหตุ เนื้อหาทั้งหมดในบทความนี้ ทางบริษัทฯได้รับความยินยอมจากเจ้าของบทความในการเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หากผู้ใดต้องการคัดลอกเนื้อหาทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อไปเผยแพร่ในที่อื่นๆนอกเหนือจากเว็บไซต์ของบริษัทฯ กรุณาแสดงข้อความอ้างอิงถึงเจ้าของบทความและเว็บไซต์ของบริษัทฯด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
แนะนำโรงพยาบาลหรือแพทย์ที่รักษาอาการนอนกรนให้หน่อยครับ
ดูรายชื่อได้ที่นี่ครับ รายชื่อโรงพยาบาลรักษานอนกรน