การนอนกรน ปัญหาที่พบบ่อยเมื่ออายุมากขึ้น
การนอนกรน เป็นปัญหาพบบ่อยเมื่อคนเราอายุเพิ่มมากขึ้น และมีความสัมพันธ์ต่อ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เราจึงไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้ไปอย่างง่ายๆ เพราะอาจเป็นความเสี่ยงสำคัญที่นำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยต่างๆ โดยในปัจจุบันนี้พบว่าอัตราการนอนกรนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มสูงยิ่งขึ้นอีกเรื่อยๆ ในอนาคต
เสียงกรน เกิดจากอะไร?
เสียงกรน คือเสียงที่เกิดขึ้นระหว่างการหายใจขณะหลับที่เกิดจากลมผ่านอวัยวะทางเดินหายใจส่วนบน (Upper airway structure) เช่น ลิ้น โพรงจมูก ผนังช่องปากและลำคอ เป็นต้น ที่ตีบแคบกว่าปกติ ทำให้กล้ามเนื้อในส่วนนี้เกิดการสั่นกระพือ และทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น
ซึ่งทางเดินหายใจส่วนบนจะหย่อนมากขึ้นตามอายุ โดยมากแล้วเสียงกรนมักจะพบในขณะหายใจเข้า แต่บางครั้งก็สามารถได้ยินขณะหายใจออกได้ โดยเฉพาะในรายที่เป็นมาก
การนอนกรน มีความสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างไร?
ตามความเป็นจริงแล้วนั้นอาการนอนกรนเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยสูงอายุ ก็มีโอกาสที่จะนอนกรนได้ทั้งนั้น เพียงแต่เมื่อคนเรามีอายุที่เพิ่มมากขึ้นแล้วนั้นเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจส่วนบนจะหย่อนมากขึ้นตามอายุดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเกิดการนอนกรนเพิ่มมากขึ้น
การนอนกรนแบบใด ที่ก่อให้เกิดอันตราย?
เสียงกรนอาจตรวจพบได้หลายรูปแบบเมื่อตรวจด้วย เครื่องตรวจการนอนหลับ (Polysomnogram; PSG) โดยผู้ที่รับการตรวจจะต้องติดอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ที่ตัวขณะนอนหลับทั้งคืน ซึ่งการตรวจนี้อาจทำที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านก็ได้ เราเรียกการตรวจนี้ว่า การตรวจวัดความผิดปกติขณะนอนหลับ หรือเรียกสั้นๆ ว่า Sleep Test
ถ้าเสียงกรนนั้น ดังบ้าง เบาบ้าง เช่น นอนกรนแบบเสียงค่อยๆหายไป และกลับดังขึ้นมาอีก เป็นแบบนี้สม่ำเสมอ เหมือนเสียงดนตรี ให้คิดได้ว่าน่าจะมีปัญหาของการหายใจผิดปกติ อาจส่งผลให้เกิด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต
สรุป
การหายใจที่ติดขัดและเสียงกรนที่ดัง ปลุกสมองให้ตื่นขึ้นวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกๆ คืน ส่งผลให้สูญเสียสมรรถภาพในการนอนหลับ และส่งผลอื่นๆ ตามมา ทำให้ระบบต่างๆ สุขภาพร่างกายอ่อนแอไวขึ้น และยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ในอนาคตตามมา
ซึ่งนอกจากอายุที่มากขึ้นจะส่งผลแล้ว ปัจจัยทางกายวิภาคอื่นๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดการนอนกรน ด้วยเช่นกัน ทีนี้เข้าใจกันมากขึ้นหรือยังครับว่าเรื่องนอนกรนไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ที่จบแค่ในห้องนอนเท่านั้น แต่ การนอนกรนอาจก่อให้เกิดอันตรายขณะหลับโดยไม่รู้ตัว และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆได้ด้วยเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม: 4 วิธีแก้นอนกรน รวบรวมจากประสบการณ์จริง