เด็กนอนกรน สาเหตุเกิดจากอะไร และวิธีแก้ไขให้ถูกวิธี
เด็กนอนกรนจะมีอาการ เช่น นอนกรนกัดฟัน, นอนหายใจทางปาก, หายใจติดขัด เสียงดัง, หายใจเสียงครืดคราดในคอ หรือ เหงื่อออกเวลานอน ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อพัฒนาการของลูกน้อยในหลายๆด้าน ดังนั้น พ่อแม่ควรศึกษาปัญหาเด็กนอนกรน สาเหตุ และวิธีแก้ปัญหาเด็กนอนกรนอย่างถูกวิธี อีกทั้งปัญหาการรักษาอาการเด็กนอนกรน สามารถรักษาด้วยเครื่อง CPAP และ เครื่อง BiPAP เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ได้หรือไม่ หาคำตอบทั้งหมดได้จากบทความต่อไปนี้
เด็กนอนกรนเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปในทุกประเทศทั่วโลก และมักถูกละเลยโดยผู้ปกครองซึ่งมักคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอันตรายใดๆ ในประเทศไทยมีการทำวิจัยพบว่าเด็กนอนกรนพบได้ราวร้อยละ 10 และในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 1 เป็นเด็กก่อนวัยเรียนและช่วงประถม
เด็กนอนกรน ปัญหาสุขภาพที่ต้องดูแลรักษา
ปัญหาอาการนอนกรนแม้จะพบได้ไม่บ่อย และยังเป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายคนมองข้าม เพราะคิดว่าไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ความจริงแล้วเป็นปัญหาที่อันตรายต่อสุขภาพของเด็กถึงขั้นเสียชีวิตได้ ภาวะนอนกรนจะพบในเด็กที่มีอายุระหว่าง 2 – 6 ปี เนื่องจากเด็กวัยนี้จะมีต่อมทอนซิล และต่อมอะดีนอยด์ ที่ทำให้เกิดการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจจนเกิดเสียงกรนที่เป็นภาวะอันตราย
ปัจจุบันยังพบอีกว่าเด็กที่มีภาวะนอนกรนจากปัญหาทางเดินหายใจถูกกดทับ ที่มีปัญหาของต่อมทอนซิลอุดกั้น หรือทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบมีอันตรายมากขึ้น 10% จากเด็กนอนกรน 20% และในจำนวนนั้นมีเด็กที่สุขภาพดีมากเพียง 2% เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นอาการนอนกรนที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ ทำให้ต้องหายใจผ่านทางปาก จึงทำให้เกิดเสียงกรนเล็ก ๆ และเด็กก็จะมีอาการดีขึ้นเองเมื่อตื่นขึ้น ก็จะไม่ส่งผลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก
เด็กนอนกรนอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ในกรณีที่บุตรหลานของท่าน มีอาการนอนกรนดังเป็นประจำ หรือนอนกระสับกระส่าย หายใจลำบาก คัดจมูกเป็นประจำต้องอ้าปากหายใจบ่อย ๆ ปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ หรือ มีพฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ผลการเรียนแย่ลง เติบโตช้ากว่าวัย ท่านควรพาเด็กไปพบแพทย์
ปัญหาเด็กนอนกรน สาเหตุเกิดจากอะไร?
ปัญหาการนอนกรนในเด็กคล้ายกับการนอนกรนในผู้ใหญ่คือ การสั่นสะเทือนของโครงสร้าง ระบบทางเดินหายใจ เช่น ลิ้นไก่และเพดานอ่อนที่ตีบแคบทำให้เกิดเสียงกรน
ปัญหาซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดและพบได้บ่อยสำหรับอาการกรนในเด็ก ได้แก่ การมีต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของจมูกโตผิดปกติ ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ เด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน จนทำให้ไขมันบริเวณคอกดทับทางเดินหายใจ
ส่วนสาเหตุอื่นๆ ก็มีอย่างเช่น มีความผิดปกติของโครงกระดูกบริเวณใบหน้าโดยกำเนิด ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม รวมไปถึงพันธุกรรมที่พ่อหรือแม่ของเด็ก
สาเหตุที่พบบ่อยและสำคัญที่สุดในเด็ก คือ การมีต่อมทอนซิล และหรือ ต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของจมูกโตกว่าปกติ (มองไม่เห็นทางปาก)
นอกจากนี้ ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ หรือ ภาวะอ้วน ก็เป็นสาเหตุที่พบบ่อยเช่นกัน ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้เช่น โครงหน้าผิดปกติ เช่น หน้าแคบ คางสั้นหรือเล็ก ตลอดจนโรคทางพันธุกรรม หรือ โรคทางสมองและกล้ามเนื้อ ที่มีผลต่อการหายใจ เป็นต้น
อันตรายและผลข้างเคียง
- เด็กที่มีภาวะนอนกรน อาจเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีความผิดปรกติทางพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา
- เสี่ยงต่อการเป็นเด็กสมาธิสั้น เรียนรู้ช้าผลการเรียนแย่ลง
- เด็กที่มีภาวะนอนกรนจากระบบทางเดินหายใจถูกปิดกั้น อาจเติบโตช้า มีพฤติกรรมก้าวร้าวและซุกซนมากผิดปกติ เป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากเด็ก ๆ ทั่วไป
- เด็กที่มีภาวะนอนกรน ทำให้มีปัญหาการหลับในห้องเรียน เพราะนอนหลับไม่สนิทในช่วงกลางคืน ทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด และมีปัญหากับเพื่อนร่วมชั้นเรียนเข้ากับเพื่อนๆไม่ได้ เป็นเด็กมีโลกส่วนตัวสูง
- อาการกรนที่รุนแรงอาจทำให้มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เมื่อหยุดหายใจ ออกซิเจนในเลือดก็จะลดลง หากไม่ได้รับการดูแลรักษาและปล่อยให้เด็กมีภาวะนอนกรนในระยะยาว เด็กก็จะมีอาการหัวใจโต และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- เด็กที่มีภาวะนอนกรนบางคนอาจจะมีอาการปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน หรืออาจปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ
วิธีการสังเกตความผิดปกติจากภาวะเด็กนอนกรน
- คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้ง่ายๆ ในช่วงลูกนอนหลับ เช่น มีเหงื่อออกง่าย และหายใจเหนื่อยหอบตอนหลับ หน้าอกบุ๋ม คอบุ๋ม และท้องโป่ง
- ลุกปัสสาวะรดที่นอนบ่อย ๆ พฤติกรรมเปลี่ยนไปโดยช่วงกลางวันลูกจะมีอาการง่วงนอนเนื่องจากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หงุดหงิดง่าย เป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง ไม่เชื่อฟังพ่อแม่หรือครู
- นอนกรนเสียงดัง และเสียงกรนดังเฮือก เหมือนคนขาดอากาศหายใจ และมีอาการสะดุ้งตื่นหลังเสียงกรน
- หมั่นสังเกตหากลูกมีอาการนอนกรน ฟังเสียงกรนว่ามีเสียงกรนแบบขาด ๆ หาย ๆ หรือมีการหยุดหายใจไปชั่วขณะหรือไม่
การตรวจวินิจฉัย
หากพบว่าเด็กมีอาการกรนผิดปกติ ควรพาไปพบแพทย์ โดยเด็กที่นอนกรนแพทย์จะทำการวินิจฉัย และตรวจร่างกาย รวมไปถึงตรวจการนอนหลับ(Sleep test)เพื่อตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ระบบหายใจ รวมถึงคุณภาพการนอนหลับ
การวินิจฉัยที่แม่นยำต้องอาศัยทั้งประวัติ การตรวจร่างกาย ตั้งแต่ บริเวณ ศีรษะ ใบหน้า หู คอ จมูก และช่องปาก การตรวจปอด และหัวใจ หรือระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังนิยมตรวจเพิ่มเติม เช่น การ X-ray บริเวณศีรษะด้านข้างเพื่อดูความกว้างของทางเดินหายใจ
และหากทำได้ เด็กที่นอนกรนควรได้รับการ ตรวจการนอนหลับ (Sleep test) เพื่อตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ระบบหายใจ รวมถึงคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งในโรงพยาบาล หรือทำ Sleep test ที่บ้าน ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ความเหมาะสม และความสะดวกของแต่ละท่าน
แนวทางการดูแลเด็กนอนกรน
แนวทางการดูแลรักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก ได้แก่
- ควบคุมเรื่องโภชนาการ หากเด็กมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- การรักษาด้วยยา เช่น การให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือ ยารักษาอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือยาแก้อักเสบเพื่อรักษาต่อมทอนซิล ซึ่งเลือกใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละราย
- การรักษาด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันวิธีที่เป็นมาตรฐาน และได้ผลดีมากที่สุด คือ การผ่าตัดต่อมทอนซิล และ อะดีนอยด์ (Adenotonsillectomy) เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง แต่มีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่ำ และมีผลต่อภูมิต้านทานหรือ การติดเชื้อภายหลังน้อยมาก อย่างไรก็ตามท่านต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก ที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดผู้ป่วยเด็ก
- ดูแลเรื่องความสะอาดของห้องนอนและเครื่องนอน เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม และของใช้ในห้องนอน เพื่อไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองจมูกและป้องกันเชื้อโรคที่มีกับฝุ่นทำให้เกิดภูมิแพ้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ
- หากพบว่าขณะนอนหลับเด็กมีอาการกรนมากขึ้น ให้จับเด็กนอนในท่าตะแคง เพื่อลดอาการกรน
- ดูแลรักษาด้วยอุปกรณ์ช่วยหายใจ อย่างเช่น เครื่อง CPAP หรือกรณีเด็กมีอาการกรนที่รุนแรงก็สามารถใช้ เครื่องช่วยหายใจ BiPAP (Bi-level Positive Airwar Pressure) ซึ่งสามารถปรับแรงดันได้ 2 ระดับ ช่วยปรับแรงดันลมให้เหมาะกับอาการกรนของเด็กได้ดี
- พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับไม่ให้รุนแรงมากขึ้น และไม่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
สรุป
เด็กนอนกรนเป็นอาการที่พบบ่อยมาก และเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย และเป็นได้ตั้งแต่เด็ก แท้จริงแล้ว เสียงกรนเป็นอาการที่บ่งบอกว่า กำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่ จมูก ช่องลำคอ โคนลิ้น หรือ บางส่วนของกล่องเสียง ซึ่งเกิดการหย่อนตัวลงเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ จนทำให้เมื่อลมหายใจ ผ่านเนื้อเยื่อดังกล่าว เกิดการสั่นสะเทือนและมีเสียงดังขึ้น
นอนกรนทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก (Pediatric Obstructive Sleep Apnea; OSA) อาจทำให้มีความผิดปรกติทางพัฒนาการ ทั้งทางด้านร่างกาย และสติปัญญา ทำให้เติบโตช้า มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือ ซุกซนมากผิดปกติ (Hyperactive)
เด็กบางรายอาจปัสสาวะรดที่นอน และมีผลการเรียนแย่ลง หรือมีปัญหาสังคมตามมาได้ นอกจากนี้ถ้าเป็นรุนแรงมากอาจ เป็นสาเหตุและความเสี่ยงของ โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ได้อีกด้วย
อ้างอิงจากบทความเรื่อง นอนกรนในเด็ก…เมื่อลูกรักอาจหยุดหายใจ
โดย รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine, Certified International Sleep Specialist
ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หมายเหตุ เนื้อหาทั้งหมดในบทความนี้ ทางบริษัทฯได้รับความยินยอมจากเจ้าของบทความในการเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หากผู้ใดต้องการคัดลอกเนื้อหาทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อไปเผยแพร่ในที่อื่นๆนอกเหนือจากเว็บไซต์ของบริษัทฯ กรุณาแสดงข้อความอ้างอิงถึงเจ้าของบทความและเว็บไซต์ของบริษัทฯด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
Nk รับติดสลีปเทสในเด็กมั้ยครับ รบกวนติดต่อกลับ 0970424636
ขึ้นอยู่กับอายุและปัจจัยอื่นๆด้วยครับ ยังงัยเดี๋ยวให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปให้รายละเอียดและคำปรึกษาต่างๆ นะครับ
สอบถามคะ ลูกนอนกรนหลังจากหายจากอาการหวัด น้องไอ ไปหาหมอที่คลินิก คุณหมอให้พ่นยา และทานยาขยายหลอดลม ตอนนี้อาการไอเริ่มดีขึ้น เป็นอันตรายมั๊ยคะ
ต้องขออภัยที่ตอบกลับช้าครับ เคสลูกนอนกรนหลังจากหายจากอาการหวัดสามารถเกิดได้ครับ แต่เป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากในช่วงที่เพิ่งหายจากอาการหวัดยังอาจมีอาการบวมในช่องทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น ช่องจมูกหรือหลอดลม หากเรารักษาอาการหวัดหรือไอจนอาการบวมเหล่านี้หายแล้ว อาการกรนก็น่าจะค่อยๆ หายไปด้วยครับ แต่ถ้าหากหายจากอาการหวัดนานแล้วแต่ลูกยังนอนกรนอยู่ อันนี้ให้พบแพทย์อีกครั้งเพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นๆต่อไป เช่น ลูกอาจมีต่อมอะดีนอย์โต เป็นต้น
ลูกนอนกรนทุกวันเลยคะ บางทีกรนจนสะดุ้งตื่น บางทีหายใจเฮือกขึ้นมาก แบบคนจะขาดใจ จับนอนตะแครงก้อไม่หาย
ไม่ทราบลูกอายุเท่าไหร่ครับ ถ้าเป็นเด็กเล็ก เช่น 2-6 ปี อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจมีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ที่โตมากกว่าปกติ หรือมีภาวะภูมิแพ้ ทำให้เกิดการบวมหรืออุดกั้นของระบบทางเดินหายใจจนเกิดเสียงกรนได้ อาการนอนกรนในเด็กไม่ควรปล่อยไว้นะครับ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไปครับ
แนะนำอ่านเพิ่มเติม:
– เด็กนอนกรนเกิดจากอะไร
– รายชื่อโรงพยาบาลรักษานอนกรน
เป็นเหมือนกันเลยค่ะสอบถามคะ ลูกนอนกรนหลังจากหายจากอาการหวัด น้องไอ ไปหาหมอที่คลินิก คุณหมอให้พ่นยา และทานยาขยายหลอดลม ตอนนี้อาการไอเริ่มดีขึ้น เป็นอันตรายมั๊ยคะ
หลังจากหายจากอาการหวัดใหม่ๆ ก็อาจนอนกรนได้เนื่องจากช่องทางเดินหายใจยังบวมอยู่ครับ หลังจากได้ยาขยายหลอดลมและร่างกายกลับมาเป็นปกติ อาการนอนกรนดังกล่าวก็จะหายไปครับ แต่ถ้ายังกรนอยู่อาจต้องปรึกษาแพทย์อีกครั้งเพื่อหาสาเหตุอื่นๆต่อไป เช่น อาจมีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ที่โต เป็นต้นครับ
ลูกผมอ้วนอายุ12น้ำหนัก67กก.นอนกรนแรงมากพอตื่นมาก็ปรกติแบบนี้อันตลายใหมครับ
เด็กที่นอนกรนแรงมากๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ครับ โดยเฉพาะหากมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ร่วมด้วย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและแนวทางการรักษาต่อไปครับ แนะนำอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่
สวัสดีคะ ลูกชายดิฉัน คลอดก่อนกำหนด คลอดตอนท้องได้ 7 เดือนคะ ตอนนนี้เค้ามีอายุ 1 ขวบ 10 เดือนคะ แต่เค้ามี ภาวะหายใจแรงตั้งแต่ ยังไไม่ถึง 1 ขวบคะ แต่ ช่วงนี้เค้าหายใจแรงขึ้น ให้นอนตะแคง ก็ยังไม่หายกรนคะ รบกวนคุณหมอให้คำแนะนำด้วยคะ ต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะเค้ามี ความก้าวร้าว ซุกซนทมากๆๆคะ
เรียนคุณณัฐกฤตา ต้องขออภัยที่ตอบกลับช้านะครับ ช่วงที่ผ่านมาผมติดธุระหลายอย่างเลยเพิ่งจะมีเวลาเข้ามาอ่านครับ อาการนอนกรนในเด็กเล็กมักมีสาเหตุจากการที่ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์มีขนาดโตผิดปกติ หรืออาจเกิดจากภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ หรือเกิดจากการที่เด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจนทำให้ไขมันบริเวณคอกดทับทางเดินหายใจ ซึ่งต้องไปพบแพทย์ เช่น แพทย์หูคอจมูก (ENT) เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เช่น อาจพิจารณาเรื่องการผ่าตัดหากเกิดจากต่อมดังกล่าวมีขนาดโตครับ
ลูกอายุ6 เดือน เวลานอนหงายบางครั้งจะมีอาการนอนกรน แต่จับตะแคงไม่กรน แบบนี้ผิดปกติไหมคะ
เด็กที่นอนกรนมักเกิดจากปัญหาทางเดินหายใจถูกกดทับโดยเฉพาะเวลานอนหงายครับ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ดูนะครับ