อาการนอนกรนเกิดจากอะไร มีอันตรายหรือไม่ รักษาที่โรงพยาบาลไหนดี

นอนกรนเกิดจากอะไร

นอนกรนเกิดจากอะไร

อาการนอนกรนเกิดจาก การที่ช่องทางเดินหายใจส่วนต้นของเรา เกิดการตีบแคบลง ทำให้ลมหายใจที่ผ่านเข้ามาผ่านช่องที่แคบนี้ เกิดการกระพือ และกลายเป็นเสียงกรนขึ้น

ขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ครับ โดยปกติตามธรรมชาติ คนเราเมื่อนอนหลับ กล้ามเนื้อต่างๆ จะมีการหย่อนตัวหรือคลายตัวลง ซึ่งอวัยวะในช่องทางเดินหายใจของเรา เช่น เพดานอ่อน หรือโคนลิ้น ก็จะหย่อนลงมาทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงได้ โดยเฉพาะเวลาที่เรานอนหงาย

ทีนี้ พอช่องทางเดินหายใจมันแคบลง เวลาเราหายใจเอาอากาศเข้ามา ลมที่ผ่านช่องที่แคบนี้ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวเกิดการกระพือ (คล้ายๆ กับเวลาที่ลมเป่าลมผ่านหลอดเล็กๆ นั่นแหละครับ) เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการกระพือ หรือสั่นสะเทือน ก็จะเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น และนี่ก็คือสาเหตุของการนอนกรนนั่นเองครับ

เสียงกรนที่เกิดขึ้นนี้ อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่เกิดการสั่น เช่น ถ้าเกิดการสั่นที่เพดานอ่อน หรือลิ้นไก่ ก็จะทำให้เกิดเสียงกรนในลำคอ หรือถ้าเกิดการสั่นที่เนื้อเยื่ออ่อนด้านหลังโพรงจมูก ก็จะทำให้เกิดเสียงกรนแบบขึ้นจมูก เป็นต้น

แนะนำอ่านเพิ่มเติม : ปัจจัยทางกายวิภาคที่มีส่วนทำให้เกิดการนอนกรน

สาเหตุการนอนกรน ที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้

  • น้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เบื้องต้นดูได้จากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ครับ
  • ไขมันในช่องคอหนา
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนได้
  • นอนกรนมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • ความเหนื่อย กับการนอนกรน ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างมาก
  • นอนหงายเป็นประจำ

สาเหตุนอนกรนที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น

  • ช่องจมูกคด
  • ช่องจมูกตีบตัน อาจเนื่องจากภูมิแพ้
  • การรับประทานยาบางชนิด ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ
  • สรีระผิดปกติ เช่น คางเล็ก ลิ้นไก่ใหญ่กว่าปกติ โคนลิ้นอ้วน เป็นต้น
สาเหตุการนอนกรน
รูปแสดงสาเหตุการนอนกรน

นอนกรนอันตรายไหม

คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับ “ประเภทของการนอนกรน” ครับ

อาการนอนกรนนั้น ทางการแพทย์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  1. นอนกรนแบบธรรมดา และ
  2. การนอนกรนแบบอันตราย

ซึ่งคำตอบก็ตรงตัว คือถ้าเป็นนอนกรนแบบอันตราย ก็จะมีผลเสี่ยต่อสุขภาพร่างกายของเราได้ ผมจะอธิบายในรายละเอียดเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ครับ

นอนกรนแบบธรรมดา

คือการนอนกรนประเภทที่มีแต่เสียงดังน่ารำคาญ แต่ไม่ได้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อร่างกายครับ

อาการนอนกรนประเภทนี้เกิดจากการตีบแคบของช่องทางเดินหายใจเพียงบางส่วน แต่ไม่ได้ปิดสนิททั้งหมด ดังนั้นยังมีอากาศไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายเราได้ แต่ช่องคอที่แคบทำให้เกิดการสั่นสะเทือน เกิดเป็นเสียงกรนดัง

ซึ่งมีผลคือความรำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมห้องด้วยเท่านั้น หรืออย่างมากอาจมีอาการคอแห้งตอนตื่นมาได้ครับ

การนอนกรนแบบอันตราย

หากผู้ที่นอนกรนแบบธรรมดาข้างต้น มีอาการแย่ลง คือกล้ามเนื้อในช่องคอมีการหย่อนตัวลงมากขึ้น ช่องทางเดินหายใจที่ตีบแคบ ก็จะแคบลงมาจนปิดสนิท!!

และเมื่อช่องทางเดินหายใจปิดสนิท ก็จะไม่มีอากาสไหลผ่านเข้าสู่ร่า่งกายเราได้เลย และแน่นอน เมื่อไม่มีอากาศไหลผ่าน ก็ไม่มีการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อ เสียงกรน ก็จะหายไปด้วย (ชั่วคราว) แต่! อันตรายได้เริ่มขึ้นแล้วครับ

เราเรียกภาวะเช่นนี้ว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Obstructive Sleep Apnea หรือส่วนมากจะนิยมเรียกกันง่าย ๆ ว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ OSA

ดังนั้นการนอนกรนแบบอันตราย ก็คือ การนอนกรนแบบที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ร่วมด้วยนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม: Sleep Apnea โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ!

ผู้หญิงก็นอนกรนได้

ถึงแม้ว่าผู้หญิงนอนกรน อาจพบได้น้อยกว่าผู้ชาย แต่ก็อาจสร้างปัญหา และมีอันตรายได้ร้ายแรงไม่แพ้กันครับ

สถิติโรคนอนกรนในคนไทย พบในกลุ่มผู้ชายมากถึง 20-30% ส่วนผู้หญิงพบได้ 10-15% โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงาน คนที่อาการรุนแรงมากพบได้สูงถึง 5% และยังพบเด็กเป็นโรคนอนกรนได้เช่นกัน

ที่มา : บทความเรื่อง “นอนกรน” อย่านอนใจ จากเว็บไซต์ สสส.

ผู้หญิงนอนกรน pantip
กราฟแสดงตัวเลขสถิติผู้ชาย-ผู้หญิงนอนกรน ในประเทศไทย

เนื่องจากการนอนกรน เกิดจากการที่ช่องทางเดินหายใจมีการตีบแคบลง ดังนั้นไม่ว่าเพศไหน ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เหมือนกัน แต่จะมากน้อยกว่ากันก็อีกเรื่องหนึ่งครับ

และถึงแม้ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ มักจะนอนกรนไม่รุนแรงเท่าในผู้ชาย แต่ผู้หญิงมักจะอายหากรู้ตัว หรือมีคนทักว่านอนกรน อันนี้ก็ถือเป็นอีกปัญหาหนึ่ง คือทำให้เสียบุคลิกภาพ หรือน่าอับอายได้ โดยเฉพาะหากต้องไปนอนร่วมกับผู้อื่น

สรุปผู้หญิงนอนกรนได้ครับ และที่น่าตกใจคือมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเลย ที่พบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ OSA ร่วมด้วย

และที่สำคัญ หากเป็นการกรนแบบมีภาวะ OSA ร่วมด้วย ก็สามารถทำอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ดังที่ผมกล่าวมาข้างต้นได้เหมือนกันทุกคนครับ

ปัญหาเด็กนอนกรน

อีกกลุ่มที่สำคัญ และไม่ควรมองข้าม คือ เด็กนอนกรน ซึ่่งพบได้ประมาณ 2% ของประชากร โดยพบในเด็กผู้หญิงพอๆ กับเด็กผู้ชาย

เด็กที่นอนกรน ส่วนใหญ่มักเป็นการนอนกรนแบบธรรมดา ไม่มีอันตรายใดๆ แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจนะครับ เพราะเด็กบางคนอาจพบว่ามีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วยก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีนั้น จะมีผลเสียต่อการพัฒนาการ ทั้งร่างกายและสมอง ของเด็กเป็นอย่างมากครับ

เด็กนอนกรน ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกับในผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่าในเด็กบางคนที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน ก็อาจมีไขมันส่วนเกินในลำคอ ซึ่งทำให้เกิดการการกรนได้ เหมือนในผู้ใหญ๋ก็ตาม

แต่ที่พบในเด็กส่วนมาก โดยเฉพาะในช่วงอายุ 2-6 ปี การกรนนั้นมักเกิดจากต่อมทอมซิล และต่อมอะดีนอยด์ ที่มีขนาดโตจนมาขวางทางเดินหายใจ หรือในเด็กบางคนอาจเกิดจากอาการภูมิแพ้ ที่ทำให้ช่องจมูกบวมและแคบลงได้

หากพบภาวะ OSA ในเด็ก มักมีผลกระทบตามมา เช่น เด็กเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ซุกซน ปัสสาวะรดที่นอน มีผลการเรียนแย่ลง หรือมีปัญหาสังคมสำหรับเด็กได้

เด็กกลุ่มไหนที่มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะ OSA

  1. มีต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โตผิดปกติ
  2. เด็กอ้วน (มีน้ำหนักเกินค่ามาตรฐาน)
  3. มีความผิดปกติทางสรีระร่างกาย เช่น มีคางเล็ก คางหุบเข้า กรามเล็ก หรือมีช่องทางเดินหายใจแคบกว่าปกติ
  4. มีความผิดปกติของสมอง ที่ทำให้ระบบควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจผิดปกติ
  5. เด็กที่มีโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อย่างที่ผมได้อธิบายมาแล้วข้างต้น ในหัวข้อเรื่องการนอนกรนแบบอันตราย ว่าเป็นการนอนกรนแบบที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ OSA ร่วมด้วย

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คือ ภาวะที่ช่องทางเดินหายใจของเราเกิดการอุดกั้นแบบสมบูรณ์ จนทำให้ไม่สามารถหายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกายได้

ดังนั้นการกรน จึงเป็นสัญญาณเตือนภัย อันดับต้นๆ ว่าท่านอาจมีภาวะ OSA ได้ครับ

อันตรายของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

หากท่านนอนกรน แบบมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) ร่วมด้วย จะมีอันตรายอย่างมาก ไม่ควรนิ่งนอนใจครับ และเท่าที่ผมพบเจอมา คนนอนกรนส่วนใหญ่มักจะมีภาวะ OSA ร่วมด้วยเสมอ โรค OSA นี้จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้หลายอย่าง อาทิเช่น

อันตรายในระยะสั้น:

  • ตื่นมาไม่สดชื่น เหมือนนอนไม่พอ
  • กลางวันก็จะง่วงมาก อาจหลับในตอนทำงาน หรือขับรถได้ง่ายๆ

อันตรายในระยะยาว:

  • มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • อาจทำให้เกิด Stroke จนเป็นอัมพฤกษ์และอัมพาตได้
  • อาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า
  • โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
นอนกรนอันตรายไหม

อาการเบื้องต้นของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อาการตอนกลางวัน:

  • ตื่นมาไม่สดชื่น มึนหัว คล้ายนอนไม่พอ
  • ง่วงนอนมากตอนกลางวัน
  • อ่อนเพลียง่าย
  • หลับในตอนประชุม หรือขับรถ
  • ความจำถดถอย
  • หงุดหงิดง่าย เนื่องจากนอนไม่พอ
  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน

อาการตอนนอน:

  • นอนกรนเสียงดังมากเป็นประจํา
  • นอนกระสับกระส่าย
  • ตอนนอนมีเหงื่อออกมากผิดปกติ
  • มีอาการหายใจติดขัดขณะหลับ
  • คนรอบข้างสังเกตว่ามีช่วงการกรน สลับกับช่วงหยุดหายใจ เป็นระยะ
  • มีอาการผวา สะดุ้งตื่น หรือหายใจแรง เหมือนหายใจไม่ออก
  • มีอาการคล้ายสำลักน้ำลายเป็นระยะ
ง่วงนอนตอนกลางวัน
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้เหนื่อยและง่วงนอนในเวลากลางวัน

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรคนอนกรน

หากท่านพบว่ามีอาการเบื้องต้น ตรงตามที่กล่าวมาในหัวข้อด้านบนหลายข้อ เช่น นอนกรนเสียงดังมาก ง่วงนอนตอนกลางวัน โดยเฉพาะมีอาการสะดุ้งเฮือก คล้ายๆ คนจมน้ำและสำลักน้ำตอนนอนบ่อยๆ (อันนี้ต้องมีคนช่วยสังเกตุ) ผมแนะนำให้พบแพทย์เป็นการด่วนครับ

แพทย์ที่ท่านควรไปพบ ควรเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับโดยเฉพาะ เช่น แพทย์หู คอ จมูก (โสตศอนาสิกวิทยา) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ (Pulmonologist) หรือแพทย์ระบบสมอง (Neurologist) เป็นต้น

และถ้าเป็นไปได้ ท่านควรพาคู่สมรสหรือผู้ที่สังเกตเห็นอาการมาพบแพทย์ ก็จะดีมากครับ

โดยหลักๆ แล้ว ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยจะมีดังต่อไปนี้

  1. ก่อนเข้าพบแพทย์ บางโรงพยาบาลอาจให้ท่านทำแบบสอบถามเบื้องต้นก่อน เพื่อข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพและการนอนของท่าน (Medical and sleep history)
  2. จากนั้นท่านจะได้รับการตรวจร่างกาย เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดชีพจร ความดันโลหิต และวัดเส้นรอบวงคอ เป็นต้น
  3. เมื่อเข้าพบแพทย์ ให้ท่านอธิบายอาการอย่างละเอียดเพิ่มเติม
  4. จากนั้น แพทย์อาจขอตรวจร่างกายท่านเพิ่มเติม เช่น ดูสรีระบริเวณ ศีรษะ คอ จมูก และช่องปาก อย่างละเอียด เพื่อประเมินลักษณะทางเดินหายใจส่วนต้น ว่าอาการนอนกรนของท่านเกิดจากสาเหตุอะไร
  5. บางครั้ง แพทย์อาจขอส่องกล้อง เพื่อดูช่องทางเดินหายใจอย่างละเอียด (Endoscopy)
  6. สุดท้าย แพทย์มักจะส่งให้ท่านเข้ารับการ ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) ด้วย (ศัพท์ทางแพทย์จะเรียกว่าการตรวจ Polysomnography หรือ PSG)

การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)

การทำ Sleep Test สามารถทำได้ทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้าน และมีหลายระดับการตรวจ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบดังนี้

  1. การตรวจ Sleep Test แบบละเอียด (Full Polysomnography / Full PSG)
  2. การตรวจ Sleep Test แบบประหยัด (Limited channels / Sleep Screening Test)

ซึ่งที่ผมแนะนำคือ การตรวจแบบละเอียด (Full PSG) ซึ่งจะเป็นการตรวจแบบสมบูรณ์ และละเอียดที่สุด

1. การตรวจ Sleep Test แบบละเอียด

ทางการแพทย์จะเรียกการตรวจแบบนี้ว่าการตรวจแบบ Full Polysomnography (PSG) หรือ Sleep Test Level 1, 2 (Level 1 คือการตรวจในโรงพยาบาลและมีคนเฝ้า ส่วน Level 2 คือการตรวจที่บ้านและไม่มีคนเฝ้า)

ข้อมูลที่ได้จากการตรวจ Sleep Test แบบละเอียด จะมีหลักๆ ดังนี้

  1. คลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)
  2. การเคลื่อนไหวลูกตา (EOG)
  3. คลื่นไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อบริเวณคางและขา (EMG)
  4. คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  5. วัดระดับการหายใจผ่านทางจมูก (Air Flow)
  6. วัดระดับเสียงกรนด้วยไมโครโฟน (Snore sound)
  7. วัดการเคลื่อนไหวของหน้าอกและท้อง (Respiratory efforts)
  8. วัดระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2) และชีพจร

2. การตรวจ Sleep Test แบบประหยัด

นอกจากการตรวจแบบละเอียดแล้ว ยังมีการตรวจแบบจำกัด หรือแบบประหยัดอีกด้วย (Sleep Screener) ซึ่งจะมีราคาถูกกว่า อึดอัดน้อยกว่า แต่ข้อมูลที่วัดได้ก็จะน้อยกว่าด้วย ทำให้ผลการตรวจมีความละเอียด และแม่นยำน้อยกว่าการตรวจแบบ Full PSG

ข้อมูลที่ได้จากการตรวจ Sleep Test แบบประหยัด จะมีหลักๆ ดังนี้

  1. วัดระดับการหายใจผ่านทางจมูก (Air Flow)
  2. วัดระดับเสียงกรนจากการสั่นสะเทือน (Snore vibration)
  3. วัดการเคลื่อนไหวของหน้าอก (Respiratory efforts)
  4. วัดระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2) และชีพจร

แนะนำอ่านเพิ่มเติม: รายชื่อโรงพยาบาลรักษาอาการนอนกรนในเขตกรุงเทพ

การตรวจนอนหลับที่บ้าน (Home Sleep Test)

ปัญหาที่พบได้บ่อยของการตรวจ sleep test ที่โรงพยาบาล ก็คือผู้ที่เข้ารับการตรวจมักจะนอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับไม่ดี ซึ่งอาจมีผลทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้

หากท่านเป็นหนึ่งในนั้น ผมแนะนำให้เลือกตรวจการนอนหลับที่บ้านครับ เนื่องจากท่านจะได้นอนในห้องนอนของท่านเอง ทำให้หลับได้ดี และเป็นธรรมชาติมากกว่า

การตรวจที่บ้านนั้น อุปกรณ์ต่างๆ จะแตกต่างจากการตรวจที่โรงพยาบาล เนื่องจากการตรวจที่บ้านจะไม่มีคนเฝ้าท่านตลอดทั้งคืน ดังนั้นอุปกรณ์ต่างๆ จะเป็นแบบพกพาทั้งหมด (Portable PSG)

ข้อดีก็คือ อุปกรณ์แบบพกพามักมีขนาดเล็ก ทำให้ท่านไม่ค่อยอึดอัดมากนัก และท่านไม่จำเป็นต้องอยู่กับที่ตลอดเวลา

หลังจากที่เจ้าหน้าที่ติดอุปกรณ์เสร็จแล้ว ก็จะปล่อยให้ท่านเข้านอนตามปกติ ซึ่งท่านสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ก่อนเข้านอนเป็นต้น

พอรุ่งเข้า เจ้าหน้าที่ก็จะกลับมาถอดอุปกรณ์ต่างๆ ออกให้ เพื่อนำกลับมาแปลผล และส่งให้แพทย์ต่อไปครับ

ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง ตรวจการนอนหลับที่บ้าน (Home Sleep Test)

วิธีรักษานอนกรนด้วยหลักการแพทย์

หากท่านพบแพทย์ และทำการตรวจการนอนหลับแล้ว แพทย์มักแนะนำทางเลือกในการรักษานอนกรน ดังนี้

  1. ใช้เครื่องอัดอากาศ CPAP
  2. ใช้ที่ครอบฟัน (Oral appliance)
  3. ผ่าตัด (Surgical Treatment)

1. เครื่อง CPAP

เป็นเครื่องอัดอากาศผ่านทางจมูกเข้าสู่ช่องคอของเรา (ผ่านหน้ากาก) แรงดันอากาศจะทำให้ช่องทางเดินหายใจไม่ตีบแคบลง

เนื่องจากสาเหตุของการนอนกรนนั้น เกิดจากการอุดกั้นในช่องทางเดินหายใจของเรา ดังนั้นเครื่อง CPAP จึงเป็นการแก้ปัญหาของการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ต้นเหตุโดยตรงครับ

เครื่อง CPAP จัดเป็น Gold Standard ในการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ คือแปลว่า เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์เลือกใช้เป็นอันดับแรก

เครื่อง CPAP สามารถรักษาอาการนอนกรน และ OSA ได้ทุกระดับอาการ

อยากรู้จักเครื่องตัวนี้มากขึ้น ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ครับ >> เครื่อง CPAP คืออะไร

หรือลองดูวิดีโอด้านล่างนี้ดูครับ

2. ที่ครอบฟัน (Oral Appliance)

ในบางรายที่ไม่สามารถใช้เครื่อง CPAP ได้ แพทย์จะแนะนำทางเลือกถัดมา คือการใช้อุปกรณ์ทันตกรรมแก้นอนกรน เครื่องมือนี้ดึงขากรรไกรล่างของเราให้ยืดออกมา ทกให้โคนลิ้นถูกยกขึ้น เพื่อขยายช่องทางเดินหายใจ

แต่อุปกรณ์นี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น หากดึงขากรรไกรมากไป อาจทำให้เกิดอาการเจ็บกราม หรืออาจมีผลทำให้การสบฟันผิดไปจากปกติได้

ที่ครอบฟันจะเหมาะสำหรับการรักษาภาวะ OSA ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง

3. การผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อรักษาโรค OSA นั้นมีหลายแบบ เช่น การใช้คลื่นวิทยุจี้ การผ่าตัดต่อมทอลซิล การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน การผ่าตัดบริเวณโคนลิ้น การผ่าตัดเลื่อนกรามและขากรรไกร หรือการฝังไหมพิลล่า เป็นต้น

ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดในแต่ละวิธีนะครับ เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างยาก และเป็นวิชาการมาก หากท่านจำเป็นต้องเลือกวิธีรักษาโดยการผ่าตัดจริงๆ แพทย์ที่รักษาท่าน จะเป็นผู้อธิบายถึงรายละเอียดต่างๆ ซึ่งมีข้อดี ข้อเสีย หรือความเสี่ยงต่างๆ กันไปในแต่ละวิธีครับ

วิธีแก้อาการนอนกรนด้วยตัวเองแบบง่ายๆ

นอกจากการรักษาโดยการพบแพทย์แล้ว ในเบื้องต้น ท่านอาจเริ่มทำตามวิธีต่างๆ ที่ผมกำลังจะบอกให้เหล่านี้ เพื่อแก้อาการนอนกรนด้วยตัวท่านเองก็ได้ครับ

ซึ่งวิธีเหล่านี้ เป็นเพียงการแก้ไขเบื้องต้นเท่านั้น และใช้บรรเทาอาการกรนแบบธรรมดา ที่ไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย หากท่านมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ท่านต้องไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาตามหลักการแพทย์เท่านั้นนะครับ

วิธีแก้นอนกรนด้วยตัวเอง

  1. เปลี่ยนท่านอน โดยมากท่านอนหงาย จะเป็นท่าที่ทำให้เกิดการกรนมากที่สุด ท่านอาจลองปรับมานอนตะแคงดูก็ได้ หรือถ้านอนตะแคงไม่ได้จริงๆ ก็ให้นอนหงายแต่พยายามหาอะไรมารองหนุนศีรษะ เพื่อยกระดับศีรษะตอนนอนให้สูงขึ้น ก็พอช่วยได้ครับ
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ข้อนี้ทุกท่านควรทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะนอนกรนหรือไม่ก็ตาม การออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อในช่องทางเดินหายใจมีความแข็งแรงขึ้น ทำให้ขณะที่นอนหลับกล้ามเนื้อต่างๆ ในช่องคอ จะได้ไม่หย่อนลงมาขวางช่องทางเดินหายใจของเราได้
  3. ลดน้ำหนัก อันนี้มีผลโดยตรง หากน้ำหนักเราลดลง ไขมันต่างๆ ในช่องคอก็จะลดลง ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
  4. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน
  5. งด ชา กาแฟ ก่อนนอน
  6. เลิกบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่นอกจากจะทำร้ายร่างกายของเราแล้ว อาจมีผลทำให้ระบบทางเดินหายใจของเราผิดปกติ และเกิดการกรนได้
  7. ทำความสะอาดเครื่องนอนอย่างสม่ำเสมอ เช่น หมอน ผ้าปูเตียง ผ้าห่ม เพราะสิ่งสกปรก หรือเชื้อโรคที่ติดอยู่ตามเครื่องนอนของเรานั้น อาจทำให้เกิดหอบหืด ภูมิแพ้ได้ ซึ่งทำให้ช่องทางเดินหายใจของเราตีบแคบ และเกิดเสียงกรนได้ครับ
  8. ลองเพิ่มความชื้นภายในห้องนอนของท่าน เช่น  หาแก้วหรือชามใส่น้ำมาวางไว้ข้างๆ เตียงนอน หรือซื้อเครื่องทำความชื้นมาไว้ในห้อง
  9. ล้างจมูกบ่อยๆ แนะนำให้ล้างด้วยน้ำเกลือ โดยใช้กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าทางรูจมูกเป็นประจำก่อนนอน เพื่อทำให้จมูกโล่ง

บางท่านบอกผมว่า เดี๋ยวนี้มีน้ำมันมะพร้าวแก้นอนกรนด้วย แต่ผมไม่มีข้อมูลตรงส่วนนี้ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าได้ผลจริงหรือไม่ครับ

ส่วนอุปกรณ์เล็กๆ ที่วางแปะอุดรูจมูก แล้วอ้างว่าสามารถแก้นอนกรนได้นั้น ทาง อย. ประกาศออกมาแล้วนะครับว่าหลอกลวง อันนี้อย่าไปหลงเชื่อซื้อมาใช้กันนะครับ

สรุป

อาการนอนกรน เกิดจากการตีบแคบของช่องทางเดินหายใจส่วนต้นของเรา ถ้าอุดกั้น 100% ก็จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) ซึ่งเรียกว่าเป็นการนอนกรนแบบอันตราย

ในบทความนี้ ผมได้พยายามครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับนอนกรนให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่สาเหตุของการนอนกรน อันตรายของมัน การตรวจวินิจฉัย จนถึงทางเลือกในการรักษาแบบต่างๆ

ปัญหานอนกรนนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ผมเจอหลายท่านมีปัญหาครอบครัว เนื่องจากการนอนกรนเสียงดัง มานักต่อนัก นอกจากนี้แล้ว หากท่านนอนกรนแบบมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยแล้วละก็ อันนี้อันตรายมาก ต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน อย่าปล่อยทิ้งไว้นะครับ เพราะในระยะยาว จะมีผลกระทบกับสุขภาพของท่านอย่างแน่นอน ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ

New call-to-action
New call-to-action

35 Comments

  1. ลูกดิฉันตอนกลางคืนเหมือนนอนหลับไม่ค่อยสนิทหายใจดังเป็นหวัดไม่หายชักทีช่วยแนะนำหน่อยค่ะ

    1. กรณีนี้ผมแนะนำให้พบแพทย์เพื่อปรึกษาครับเพราะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ควรให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมครับ ผมแนะนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนหลับโดยเฉพาะดังนี้ครับ

      รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ

      American Board of Sleep Medicine,
      Certified International Sleep Specialist
      ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

      ตารางออกตรวจ:

      PHC Clinic โทร: 095-050-7956 หรือ 061-659-1788
      61/19 ถ.พระราม 9 ห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
      ทุกวันเสาร์ 13.00-15.00 น.

      รพ.กรุงเทพ คลินิกนอนกรน โทร. 02-310-3010, 02-310-3000 ต่อแผนก หู คอ จมูก
      ทุกวันอาทิตย์ 10.00-13.00 น.

      ———————–
      ขอแสดงความนับถือ
      นพ. วรวัฒน์ สุวรรณรักษ์

  2. ลูกชายนอนกรน.แต่เป็นบางวัน..เป็นอันตรายมากมั้ยคะ…..สังเกตุอาการคล้ายๆน้องคัดจมูก..นอนหงายทีไรมั๊กนอนกรนคล้ายผู้ใหญ่..แต่พอนอนตระแครงก็หาย

    1. ถ้าลูกมีอาการนอนกรน ควรพาไปพบแพทย์ครับ เพราะจากอาการที่เล่ามาเด็กอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ครับ อาการนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับในเด็กนั้น ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุที่แตกต่างกับในผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่นอนกรนมักเกิดจากการหย่อนตัวของโคนลิ้น ลิ้นไก่หรือเพดานอ่อน ส่วนในเด็กมักเกิดจากการมีต่อมทอนซิล และหรือ ต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของจมูกโตกว่าปกติ (มองไม่เห็นทางปาก) นอกจากนี้ ภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ หรือ ภาวะอ้วน ก็เป็นสาเหตุที่พบบ่อยเช่นกัน ควรให้แพทย์ตรวจดูอย่างละเอียดและแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไปครับ

  3. กรนเสียงดังมาก ลูกเมียระอา อายุ55ปี หนัก 80 kg.สูง 170cm.รักษาอย่างไรดี

    1. สวัสดีครับคุณพงศักดิ์ ต้องขออภัยที่ตอบกลับช้านะครับ ผมแนะให้เริ่มต้นด้วยการตรวจการนอนหลับที่บ้าน จากนั้นนำผลการตรวจซึ่งจะถูกอ่านและวิเคราห์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนกรนเรียบร้อยแล้ว นำไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ท่านครับ หากท่านต้องการให้เราแนะนำแพทย์ให้ก็ได้ครับ
      ถ้าสนใจรบกวนโทรปรึกษาที่เบอร์ 02-460-9241 หรือ ทัก LINE ขอบคุณครับ

  4. อายุ 21 คนข้างๆบอกว่านอนกรนเสียงดังมาก น.น 51 ส่วนสูง 156 การนอนหลับไม่ปกติอยู่เดิมแล้ว ตื่นกลางดึกบ่อย ใช้ยานอนหลับอยู่ด้วยค่ะ ตื่นนอนมาเหมือนนอนไม่พอ ง่วงหาวบ่อย

    1. ทางเรายินดีให้คำปรึกษาครับ รบกวนขอชื่อและเบอร์ติดต่อกลับโดยกรอกแบบฟอร์มที่นี่ครับ ติดต่อเรา

    2. สวัสดีค่ะดิฉันอยากจะรบกวนถามคุณหมอด้วยค่ะเรื่องการนอนกรนเพราะปกติก็ไม่เคยเป็นแบบนี้ค่ะเป็นได้ประมาณ 1-2 อาทิตย์แล้วละค่ะกังวลใจมากเช่นกันค่ะปกติเป็นคนชอบออกกำลังกายค่ะ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้าทุกชนิดค่ะ รพ. อานันท์ธมหิดล นี้รับตรวจด้วยใช้มั้ยค่ะ ดิฉันอายุ 52 ย่าง 53 ค่ะ

      1. หากอายุเยอะขึ้นก็อาจเริ่มมีอาการกรนได้ครับ ถึงแม้ว่าเราจะรักษาสุขภาพร่างกายเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม ที่ผมเจอมาบางท่านที่ดื่มเหล้าเป็นประจำก็เริ่มนอนกรนตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 เลยก็มีครับ เนื่องจากพออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อต่างๆ ในช่องทางเดินหายใจส่วนต้น (ข่องคอ) ก็อาจเริ่มการหย่อนคล้อยลง จนเริ่มมาอุดกั้นทางเดินหายใจ และทำให้เกิดการกระพือและเกิดเป็นเสียงกรนได้ครับ ถ้าหากเป็นการกรนแบบธรรมดา คือมีแต่เสียง แต่ยังไม่ถึงขั้นมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) ก็ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายครับ เพียงแต่อาจเกิดความรำคาญคนรอบข้าง และอาจเกิดอาการคอแห้งหรือท้องอืดได้เท่านั้น แต่ถ้ามีภาวะ sleep apnea ร่วมกับการกรนด้วย อันนี้อันตรายครับ ต้องรีบรักษา เพราะจะมีผลเสียต่อร่างกายของเราในระยะยาวได้ ซึ่งการจะตรวจให้แน่ขัดว่าเรามีการกรนแบบธรรมดาหรือแบบอันตราย ก็ต้องดูจากผลการทำ sleep test ครับ

  5. เป็นผู้หญิง อายุ47 นอนกรนมานานมาก ปีนี้มีอาการนอนเท่าไหร่ก็ไม่สดชื่นเหมือนไม่ได้นอนตอนนี้มีปัญหาเรื่องขับรถ เป็นทั้งความดันและเบาหวาน สูง158 หนัก 100 ตอนนี้คุมน้ำตาลและความดันได้ในระดับนึงความดัน 140/80 น้ำตาล127 น้ำตาลสะสม 9 น้ำหนักเหลือ 97 คุมอาหารและออกกำลังกาย
    อยาทราบว่าถ้าลดน้ำหนักถึงbmi ปรกติ แล้วความเสี่ยงในการนอนกรนที่ขาดอากาศหายใจจะต่ำลงไหมคะ กังวลมากค่ะ

    1. เท่าที่เคยเจอมา ถ้าสามารถลด BMI ลงได้จนอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว อาการนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับก็จะลดลง แต่โดยมากจะไม่ลดจนอยู่ในระดับที่ถือว่าไม่เป็นอันตรายได้ เนื่องจาก 1) BMI เกินเกณฑ์มาเป็นเวลานาน ไขมันส่วนเกินในช่องทางเดินหายใจมักไม่ลดลงหรือลดน้อยมากถึงแม้ว่าเราจะผอมลง 2) อายุที่มากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อในช่องทางเดินหายใจหย่อนคล้อยลง ผมแนะนำให้พบแพทย์ด้านการนอนหลับโดยด่วน เนื่องจากมีโรคประจำตัวทั้งความดันและเบาหวาน หากรอให้ BMI ลดลงโดยการคุมอาหารและออกกำลังกายเท่านั้น อาจใช้เวลานานเกินไปครับ

      1. แล้วถ้าใช้เครื่อง cpap อาการพวกนี้จะน้อยลงหรือหายไปค่ะ

        1. ถ้าใช้เครื่อง CPAP อาการจะน้อยลงครับ (หรืออาจหายไปได้ถ้าอาการไม่หนักมาก) แต่ทั้งนี้ต้องเรียนให้ทราบว่าการรักษาด้วยเครื่อง CPAP เปรียบเหมือนการใส่แว่นสายตา ถ้าคืนไหนไม่ได้ใช้งาน อาการก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้เครื่องเพื่อการรักษาแบบเร่งด่วน และคุมน้ำหนักกับออกกำลังกายควบคู่กันไปครับ

          1. ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ ตอนนี้จิตตกมากทำงานไม่ได้เลยเพราะทำงานต้องขับรถกลัวไปหมดเพราะกะระยะด้านซ้ายพลาดไปหมดนอนอยอะมากแต่เกมือนคนหลับใน พูดก็ไม่ค่แยชัดเพราะลอ้นแข็งถ้าใช้แรงเยแะน้ำลายจะพ่นตามออกมาด้วยพอไม่ได้ทำงานเงินก็ไม่มี ลำบากไปหมด

  6. ลูกชายอายุ 8 ปี นอนกรนเสียงดังมาก นอนกรนตั้งแต่เล็กๆแล้ว สังเกตุเป็นบางครั้ง เหมือนสำลักน้ำลายตัวเองบ้าง สะดุ้งบางครั้ง ดูเหมือนว่านอนอ้าปากแล้วหายใจทางปากมากกว่า

    1. อาการนอนกรนในเด็กหากปล่อยไว้อาจะเป็นอันตรายได้ครับ ซึ่งฟังอาการแล้วมีโอกาสที่จะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ ผมแนะนำให้นำลูกชายไปพบแพทย์ด้านการนอนหลับครับ หรืออยากให้ทางเราแนะนำก็สามารถติดต่อมาได้ที่เบอร์ 02-462-6441 หรือ LINE ID: @nksleepcare

  7. ลูกและสามีบอกว่าดิฉันนอนกรนเสียงดังมากและทุกค่นด้วยเลยเครียดมากค่ะอาจารย์ ตอนนี้ดิฉันอายุ38ปี นน.60 กิโล สูง158 น้ำหนักหรือส่วนสูงมีผลด้วยไหมค่ะอาจารย์

    1. น้ำหนักกับส่วนสูงมีผลด้วยครับ ดูจากข้อมูลที่ให้มาพบว่าดัชนีมวลกาย (BMI) เกินเกณฑ์มาตรฐานไปนิดหน่อย (BMI ของคุณคือ 24.0 เกณฑ์คือไม่ควรเกิน 22.9) ซึ่งอาจเป็นปัจจัยทำให้มีการอุดกั้นที่ช่องทางเดินหายใจส่วนต้นทำให้กรนได้ ปกติถ้ากรนอย่างเดียวก็อาจทำให้คนรอบข้างรำคาญเท่านั้น แต่ถ้ามีอาการสำลักอากาศขณะหลับด้วย มีความเป็นไปได้ว่าคุณอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) ร่วมด้วย ซึ่งอันนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว แต่ไม่ว่าจะกรนอย่างเดียวหรือกรนแบบมี OSA ร่วมด้วย ถ้าเกิดปัญหาต่อชีวิตประจำวันผมแนะนำให้พบแพทย์เพื่อปรึกษาหาทางรักษาครับ

      แนะนำอ่านเพิ่มเติม:
      รู้จักโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ใน 3 นาที
      รายชื่อโรงพยาบาลรักษานอนกรน

  8. สวัสดีค่ะคุณหมอ
    เป็นคนนอนกรนเสียงดัง ทั้งๆ ที่บางทียังหลับไม่สนิทเลยค่ะ สูง 167 น้ำหนัก 54 นอนตะแครงก็กรน นอนหงายก็กรนค่ะ บางทีได้ยินเสียงตัวเองกรนด้วย สาเหตุเพราะอะไรคะ ตื่นเช้ามาก็ปกตินะคะไม่ได้ง่วง หรืออ่อนเพลีย ไม่มีโรคประจำตัวอะไรนะคะ ไม่ทราบว่าน่าจะมาจากเหตุผลใด ควรเริ่มต้นรักษาตัวเองยังไงดี

    1. ดูจากดัชนีมวลกายแล้วก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ ต้องให้แพทย์ตรวจดูในช่องคอว่ามีความผิดปกติตรงจุดไหนจึงทำให้เกิดเสียงกรน เพราะการกรนเกิดจากการที่ช่องทางเดินหายใจส่วนต้นของเรามีการอุดกั้น ทำให้อากาศผ่านไม่สะดวกจึงเกิดการกระพือของอวัยวะบางส่วนและเกิดเป็นเสียงกรน เช่น อาจมีลิ้นไก่ที่ยาวผิดปกติ หรือโคนลิ้นใหญ่หรือหนา หรือบางครั้งอาจเกิดจากช่องจมูกอุดตันได้ แต่ที่แจ้งมาว่าไม่ได้มีอาการง่วงนอนหรืออ่อนเพลียในตอนกลางวัน ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นการกรนแบบธรรมดาที่ไม่มีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย แต่ทั้งหมดนี้จะรู้ได้แน่ขัด ควรไปพบแพทย์ด้านการนอนกรนเพื่อตรวจรักษาต่อไปครับ ดูรายชื่อแพทย์และโรงพยาบาลได้ที่นี่

  9. ตรวจการนอนแล้วผลออกมาหยุดหายใจขณะหลับ39ครั้ง/ชั่วโมง หมอแจ้งแค่ว่าลิ้นไก่ยาว โคนลิ้นใหญ่ แล้วให้ใช้Cpap ใช้มา2อาทิตย์แล้ว ยังนอนหลับไม่สนิทดี รู้สึกไม่สบาย ปรับลดแรงดัน2รอบ เหลือ5-13 มีลมเข้าท้องจนท้องแข็ง ตื่นมาก็ยังเหนื่อยๆ ไม่สดชื่น แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าหยุดหายใจ2ครั้ง/ชั่วโมง การรักษาที่ได้รับคือแค่นี้ ไม่ละเอียด รู้สึกว่าคุณหมอไม่ค่อยให้ข้อมูล หรือความใส่ใจคนไข้เลย
    -จริงๆแล้วหลังพบความผิดปกติควรตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมไหมคะ
    -แล้วการปรับเครื่องCpap ควรบ่อยขนาดไหน พึงเริ่มใช้ คือพบคุณหมอยากจะนัด2อาทิตย์ พอมีปัญหานอนไม่ค่อยหลับเพราะแรงดันสูงมาก ก็คุยผ่านเซลขายเครื่อง ลดความดัน2ครั้ง คุณหมอก็ให้ยานอนหลับ คลายเครียดTrazodone 50mg มาซึ่งค้นดูแล้วห้ามใช้กับคนเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับและทำให้ติดยา ทานlorazepam 0.5mgไปเม็ดเดียวนอนกัดลิ้นจนเป็นแผล ไม่รู้ตัว ควรเปลี่ยนหมอไหมคะ คือโรงพยาบาลสุรินทร์ มีคนเดียว ถ้าเปลี่ยนต้องไปต่างจังหวัด หรือ ซื้อเครื่องกับที่อื่น ซึ่งคุณหมอก็จะไม่ดูแลเรื่องการตั้งค่าเครื่องให้ ต้องซื้อผ่านเซลที่โคกับโรงพยาบาล
    -ถ้าต้องใช้แรงดัน15 คุณพิจารณาใช้เครื่องBipap ดีกว่าไหม เพื่อคุณภาพการนอนที่ดีกว่า แก้ปัญหาเรื่องลมเข้าท้องด้วย หรือขอผลการทำsleep test ไปปรึกษาหมออื่นดีคะ ขอบคุณคะ

    1. ฟังจากผลการตรวจแล้ว มีหยุดหายใจขณะหลับ 39 ครั้ง/ชั่วโมง ถือว่าอยู่ในขั้นรุนแรง จึงจำเป็นต้องใช้ค่าแรงดันรักษาสูงถึง 13 cmH2O

      – ส่วนสาเหตุที่พบส่วนมากก็คือโคนลิ้นใหญ่ ซึ่งแพทย์ที่ตรวจน่าจะทำการส่องตรวจดูแล้วพบว่าเกิดจากสาเหตุตรงจุดนี้ ดังนั้นตอนนี้ก็ยังไม่ต้องหาสาเหตุเพิ่มเติม ส่วนการรักษานั้นถ้าอยู่ในขั้นรุนแรง แพทย์ก็มักแนะนำให้ใช้ CPAP เป็นอันดับแรกถูกต้องแล้วครับ อาจให้เซลล์ดาวน์โหลดผลการใช้งานเครื่อง CPAP มาให้ดู ว่ามีดัชนีการหยุดหายใจขณะหลับลดลงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นก็ค่อยหาสาเหตุเพิ่มเติมต่อไป

      – ส่วนค่าแรงดันรักษาจัดว่าอยู่ในย่านสูง เพราะต้องใช้แรงดันลมมากในการถ่างช่องทางเดินหายใจที่อาจจะค่อนข้างใหญ่ การปรับค่าแรงดันนั้นควรให้แพทย์แนะนำ หรือถ้าให้เซลล์ปรับเองก็ควรดาวน์โหลดผลการใช้งานเครื่องมาดูประกอบด้วย ว่าควรลดหรือไม่ หรือลดได้มากน้อยแค่ไหน การปรับแรงดันสามารถปรับให้เหมาะสมได้แต่ก็ไม่ควรบ่อยเกินไปหรือปรับทีเดียวครั้งละมากๆ ควรปรับแล้วลองดูอาการประกอบกับรายการใช้เครื่องด้วย

      – ผมแนะนำให้รักษากับหมอท่านเดิมไปก่อน โดยทำอย่างที่แนะนำข้างต้น คือลองดูรายงานผลการใช้เครื่องเพื่อประกอบการพิจารณาปรับลดแรงดันลมลง จนถึงจุดที่เราสามารถนอนหลับได้ และค่าดัชนีการหยุดหายใจอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งจุดนี้สามารถปรึกษาหมอท่านเดิมได้

      – การที่มีลมเข้าท้อง อาจเกิดจากเป็นคนนอนอ้าปาก หรือใช้หน้ากากแบบครอบทั้งปากและจมูก ตรงนี้รบกวนขอข้อมูลเพิ่มเติมครับ

      – ถ้าจำเป็นต้องใช้แรงดันเกิน 15 ขึ้นไป แนะนำเป็นเครื่อง BiPAP ครับ เพราะจะสามารถตั้งค่าแรงดันในขณะหายใจออกให้ต่ำลงได้ ทำให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น

      ท้ายนี้ลองส่งรายงานผลการตรวจ sleep test และผลการใช้เครื่อง CPAP มาให้เจ้าหน้าที่ของผมช่วยดูให้ได้ และขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าเป็นคนอ้าปากหรือไม่ ใช้หน้ากากแบบไหน และขอทราบอายุ น้ำหนักและส่วนสูงด้วยครับ

    1. เรียนคุณกมลาภรณ์ ต้องขออภัยที่ตอบกลับช้านะครับ ที่ผ่านมาระบบหลังบ้านมีปัญหาทำให้ไม่เห็นข้อความ ตอนนี้แก้ไขเรียบร้อยแล้วครับ
      การนอนกรนนั้นสาเหตุพื้นฐานคือเกิดจากการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนต้นหรือช่องคอ ดังนั้นการที่มีเสมหะในปริมาณมากหรือเสมหะมีลักษณะข้นและเหนียว ก็อาจทำให้อากาศไหลผ่านไม่สะดวกและเกิดเป็นเสียงกรนได้ครับ

  10. ต้องการผ่าตัดเพื่อไม่ให้นอนกรนสามารถปรึกษาโรงพยาลรัฐบาลทั่วไปได้ไหมคะ ตอนนี้นอนกรนดังมากค่ะ จนคนที่นอนด้วย นอนไม่หลับ

    1. สามารถปรึกษาโรงพยาบาลรัฐบาลได้ครับ ส่วนใหญ่จะมีคลินิกที่รักษานอนกรนอยู่แล้ว เช่น รพ.จุฬา รามา ศิริราช ฯลฯ (ดูรายชื่อโรงพยาบาลที่รักษานอนกรนได้ที่นี่)

  11. มีเพื่อนแฟนมานอนบ้านคนนึงคะ เค้ามีลักษณะอ้วนไม่มาก ร่างใหญ่แต่นอนกรนเสียงดังมากกกก ทำลูกกับอิฉันนอนไม่หลับสะดุ้งตื่นกลางดึก แบบนี้ เป็นเพราะอะไรรักษาไงคะ

    1. คนที่ไม่อ้วนมากก็สามารถนอนกรนเสียงดังได้ครับ เนื่องจากช่องทางเดินหายใจของเค้ามีการตีบแคบลง ซึ่งอาจเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อในช่องคอ เช่น โคนลิ้น หรืออาจเกิดจากสรีระใบหน้าได้ เช่น คางสั้น เป็นต้น แนะนำให้เค้ารีบไปปรึกษาแพทย์ด้านนอนกรนโดยด่วนครับ เพราะการที่นอนกรนเสียงดังมากเป็นสัญญาณเตือนว่าอากาศเข้าสู่ร่างกายได้ไม่เต็มที่ และอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) ร่วมด้วย ถ้าปล่อยว่านอกจากจะกระทบกับผู้คนรอบข้างแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตัวเองในระยะยาวด้วยครับ

  12. สวัสดีค่ะคุณหมอ
    พอดีดิฉันเป็นคนที่นอนกรนเสียงดังส่วนสูง156 น้ำหนัก 54 บางครั้งยังนอนไม่สนิทก็ได้ยินเสียงกรนแล้ว
    ตื่นมาก็อ่อนเพลียตลอดทั้งวัน ส่วนตัวเคยเคยเป็นโรคปอดบวมสาเหตุมันมาจากตรงนั้นรึเปล่าคะ แล้วดิฉันควรเริ่มต้นรักษาตัวเองยังไงดีคะ รบกวนคุณหมอช่วยบอกหน่อยนะคะ
    ขอบคุณค่ะ?

    1. โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบไม่น่าเป็นสาเหตุของอาการนอนกรนครับ เนื่องจากการนอนกรนเกิดที่บริเวณช่องทางเดินหายใจส่วนต้นหรือบริเวณลำคอ ไม่ใช่ที่ปอดครับ เท่าที่อ่านจากที่เล่ามาว่ามีอาการอ่อนเพลียตลอดทั้งวัน สันนิษฐานว่าอาจเป็นการนอนกรนแบบมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) ร่วมด้วย วิธีการรักษาขั้นแรกให้ไปพบแพทย์ด้านการนอนหลับก่อน แพทย์จะพิจารณาว่าควรทำ sleep test หรือไม่ และจากผลการตรวจก็จะนำมาพิจารณาวิธีการรักษาต่อไป เช่น ใช้เครื่องอัดอากาศ CPAP หรือใช้ที่ครอบฟัน (Oral appliance) หรือรักษาด้วยการผ่าตัดครับ ดูรายชื่อแพทย์และโรงพยาบาลรักษานอนกรนได้ที่นี่ครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *