การรักษาอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การรักษาอาการนอนกรน ทำไมถึงต้องรักษา ปล่อยไว้ก็ไม่น่าจะเป็นอะไรมาก ใช่หรือเปล่า ? ก่อนอื่นต้องขออธิบายย้อนกลับไปถึงอาการนอนกรนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันก่อนนะครับว่า อาการนอนกรนสามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะในรายที่เป็นมาก อาจก่อให้เกิด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ Sleep Apnea ครับ
อาการนอนกรนกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ความจริงแล้วอาการนอนกรนมี 2 ประเภทครับ คือ นอนกรนธรรมดา กับ นอนกรนอันตราย ซึ่งนอนกรนอันตรายนี่แหละที่มีความสัมพันธ์กับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
อย่างที่เคยกล่าวไว้ในบทความก่อนๆ ว่า การนอนกรน เกิดจากการหย่อยตัวของทางเดินหายใจส่วนต้น จนทำให้มีลักษณะตีบแคบ เมื่อลมหายใจเคลื่อนผ่านจะเกิดการสั่นสะเทือนและมีเสียงดังเกิดขึ้นเป็นระยะ
อาการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้นนี้อาจเป็นเพียงบางส่วน หรือบางครั้งอาจรุนแรงจนอุดกั้นลมหายใจทั้งหมดทำให้ไม่สามารถหายใจเข้าออกได้เป็นระยะๆ ซึ่งเรียกลักษณะดังกล่าวว่า ภาวะโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea, OSA) หรือที่นิยมเรียกง่ายๆ ว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
อ่านเพิ่มเติม: อันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การรักษาอาการนอนกรน ทำได้อย่างไรบ้าง?
ก่อนอื่นเลยผู้เขียนต้องขอกล่าวว่าแนวทางการรักษานอนกรนนั้นมีหลายวิธีครับ โดยจะขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง รวมถึงปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำและพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดกับแต่ละบุคคลครับ
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน
นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการนอนกรนได้แล้วยังส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอีกด้วย สามารถทำได้ง่ายๆ โดย
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เฉลี่ยวันละประมาณ 7-8 ชั่วโมง
- เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ
- งดเครื่องดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์ก่อนนอน
- ควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ฝึกนอนตะแคงแทนการนอนหงาย จะช่วยให้หายใจสะดวกมากขึ้น
2. การรักษาปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุของโรคอื่นที่ร่วมด้วย
อาการนอนกรนสำหรับบางคนอาจจะเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยหรือโรคอื่นร่วมด้วย จึงควรทำการรักษาควบคู่กันไป เช่น โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นต้นครับ
3. การใช้เครื่องมือภายในช่องปาก (Oral appliance)
เป็นการใส่เครื่องมือลักษณะคล้ายฟันยางหรือเครื่องดัดฟันเพื่อป้องกันลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ วิธีนี้ได้ผลดีในรายที่มีอาการกรนธรรมดาครับ
แต่ถ้าหากท่านมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย วิธีนี้ไม่สามารถแก้ได้ครับ เพียงแต่อาจลดระดับความรุนแรงลงได้บ้างเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้การรักษาแบบเฉพาะเจาะจงครับ
4. การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง
การรักษาแบบเฉพาะเจาะจงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกันครับ
4.1 การรักษาโดยใช้เครื่องอัดอากาศ
การรักษาโดยใช้เครื่องอัดอากาศ หรือ เครื่อง CPAP มีหลักการ คือ เครื่องจะดูดอากาศจากภายนอกผ่านแผ่นกรองฝุ่น และผลิตแรงดันอากาศส่งออกมา ผ่านทางท่อลมเข้าสู่หน้ากากที่ครอบจมูกไว้และผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเรานั่นเองครับ
การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลและมีความปลอดภัยสูง หากใช้เครื่องได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่องตลอดทุกคืน ซึ่งโดยส่วนมากแล้วแพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยเครื่อง CPAP ก่อนเพราะเป็นวิธีที่ไม่ต้องเจ็บตัวเหมือนการผ่าตัด แต่ถ้าหากใช้แล้วไม่ดีขึ้นแพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดเป็นวิธีต่อไปครับ
4.2 การรักษาโดยการผ่าตัด
จุดประสงค์ของการผ่าตัด คือ เพื่อเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น และแก้ไขลักษณะทางกายวิภาคที่ผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยชนิดของการผ่าตัดขึ้นกับตำแหน่งของการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น
- การผ่าตัดโพรงจมูก (nasal surgery) และ/หรือโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal surgery)
- การผ่าตัดบริเวณคอหอย (oropharyngeal surgery)
- การผ่าตัดบริเวณคอหอยส่วนกล่องเสียง (hypopharyngeal surgery)
โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าวิธีใดที่มีความเหมาะสมกับอาการของท่านมากที่สุด โดยท้ายที่สุดแล้วท่านจะเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ต่อไป
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ อาการที่เกิดเป็นของลูกชายอายุ 4 ขวบจึงอยากขอแนวทางรักษาด้วยครับ
เด็กที่มีอายุระหว่าง 2–6 ปี หากมีอาการนอนกรนมักเกิดจากการที่มีต่อมทอนซิล และหรือ ต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของจมูกมีขนาดโตกว่าปกติ ทำให้ทางเดินหายใจถูกกดทับ ซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ที่มักเกิดจากการอุดกั้นจากโคนลิ้นหรือลิ้นไก่ ในเคสเด็กควรไปพบแพทย์ด้านหูคอจมูกที่เชี่ยวชาญเรื่องนอนกรนเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดรวมทั้งวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไปครับ
แนะนำข้อมูลเพิ่มเติมครับ เด็กนอนกรน
ถ้าเป็นสิทธิ์ประกันสังคม อยากรักษาต้องทำยังไง
ขั้นแรกแนะนำให้ถาม รพ. ตามสิทธิ์ฯ ของเรา ว่ามีแผนกปรึกษาโรคนอนกรนหรือไม่ ถ้ามี ก็พบแพทย์รักษาตามขั้นตอนครับ แต่ถ้าไม่มี ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อให้รู้ว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนอนกรนรุนแรงหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่อาจมีอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ถ้ามีความเสี่ยง คุณหมออาจส่งตัวไปนอนตรวจที่รพ.รัฐหรือเอกชน ที่ทางรพ.ติดต่อไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และอาการของเราครับ