ปรับสมดุลชีวิต แก้อาการนอนไม่หลับ
การนอนไม่หลับ มีความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นอย่างยิ่ง เพราะการนอนไม่หลับเป็นการทำลายสุขภาพและทำลายสมดุลของร่างกาย หากเปรียบเทียบร่างกายกับเครื่องจักรที่ต้องทำงานตลอดวันแล้ว การนอนหลับก็เปรียบเสมือนการให้เครื่องจักรได้หยุดพัก หากท่านใดที่กำลังประสบปัญหาการนอนไม่หลับ สามารถปฏิบัติได้ตามบทความนี้ด้วยการปรับสมดุลชีวิตเพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาการนอนไม่หลับนั่นเองครับ
การนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง ส่งผลเสียอะไรบ้าง?
1. คุณภาพชีวิตต่ำลง
เพราะการนอนไม่หลับอาจส่งผลต่อการทำกิจกรรมในแต่ละวัน เช่น รับผิดชอบหน้าที่ได้ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเคย ทำงานตกหล่น หรือหลงลืมรายละเอียดงานที่สำคัญๆไป เนื่องจากสมองพักผ่อนไม่เพียงพอนั่นเอง
2. อารมณ์แปรปรวน
หากสมองพักผ่อนไม่เพียงพอแล้วก็ส่งผลให้อารมณ์ของเราไม่คงที่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เครียด อ่อนล้า วิตกกังวล หรือสับสน ยิ่งถ้ามีภาวะเครียดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อสะสมนานเข้าก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาอีกด้วย
3. เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ มากยิ่งขึ้น
ผู้ที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงอาจมีภูมิต้านทานที่ต่ำลง เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยีงเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้ง่ายอีกด้วย โดยเฉพาะการอ้วนลงพุง น้ำตาลในเลือดสูง และความดันเลือดสูง
แก้ไขปัญหาการนอนไม่หลับเบื้องต้นด้วยตนเอง
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนเข้านอน
กิจกรรมที่ทำก่อนเข้านอนสามารถก่อให้เกิดปัญหาการนอนไม่หลับได้ทั้งนั้น หากกิจกรรมนั้นส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น
- การคิดเรื่องที่ทำให้เกิดความเครียด กังวล หรือเศร้าก่อนเข้านอน
- ดื่มเครื่องดื่มที่ส่วนผสมของคาเฟอีน
- เผลอเปิดโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้
- เล่นโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน
หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ได้ จะช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
2. ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการนอนหลับ
คุณทราบหรือไม่ว่าสภาพแวดล้อมในการนอนหลับก็เป็นอีกสิ่งที่จะต้องใส่ใจ เพราะส่งผลต่อการนอนหลับเช่นกัน โดยจะต้องมีลักษณะเงียบ สงบ และใช้ที่นอนเพื่อการนอนเท่านั้น นอกจากนี้อายุการใช้งานของเตียงก็ส่งผลต่อการนอนด้วย เพราะหากเตียงเสื่อมสภาพแล้วจะส่งผลให้เรานอนไม่หลับ มีการปวดเมื่อยตามตัว และพลิกตัวบ่อยครั้ง
3. ปรับเปลี่ยนเวลาการนอน
เริ่มจากการตื่นนอน-เข้านอนให้ตรงเวลาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ และเข้านอนเมื่อรู้สึกง่วงนอน ไม่ควรฝืน และหลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงบ่ายที่นานกว่า 20 – 30 นาที
สรุป
อย่าปล่อยให้อาการนอนไม่หลับทำร้ายคุณข้ามปี เมื่อคิดว่าตัวเองมีภาวะนอนไม่หลับควรพิจารณาว่ามีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง และค่อย ๆ เริ่มปรับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมการนอนไปพร้อมๆ กับปัญหาที่เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ หากอาการยังไม่ดีขึ้นจึงควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไขต่อไป