ที่ครอบฟันแก้กรน (เครื่องมือในช่องปากแบบกึ่งสำเร็จรูปชนิดปรับได้)

ที่ครอบฟันแก้นอนกรน

ที่ครอบฟันแก้กรน หรือ เครื่องมือในช่องปาก (Oral Appliance) จัดเป็นทางเลือกในการรักษานอนกรนหรือ ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ (OSA) ที่ดีวิธีหนึ่ง สามารถใช้โดยง่ายด้วยการให้ผู้ป่วยสวมเครื่องมือในปากขณะนอนหลับ หลักการคือ การยึดลิ้นหรือขากรรไกรมาทางด้านหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหรือเนื้อเยื่อในลำคอหย่อนลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น

วิธีนี้สามารถช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวนอนหลับได้ดีมากขึ้น โดยที่ ผลการรักษาจะดีในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงหรือ ไม่มีความผิดปกติทางร่ายกายหรือบริเวณทางเดินหายใจส่วนอื่นๆ ข้อดีที่เหนือกว่าการใช้เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) คือสะดวกสบายในการใช้และง่ายในการพกพาขณะเดินทาง นอกจากนี้เครื่องมือดังกล่าวยังสามารถใช้ร่วมกับการผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาร่วมกันให้สูงขึ้นได้อีกด้วย

แม้ว่าเครื่องมือในช่องปากมีการออกแบบหลากหลายตามวัตถุประสงค์และกลไกของการทำงาน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เครื่องมือในช่องปากที่ได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ Mandibular advancement device (MADs)

อุปกรณ์นี้จะไปเลื่อนขากรรไกรล่างและลิ้นไปทางด้านหน้าเพื่อเพิ่มช่องทางอากาศหลังลิ้น ลดการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อคอหอย ซึ่งจะทำให้ลดระดับความรุนแรงของภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับได้โดยการเพิ่มพื้นที่ของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งมีหลายชนิดมาก และมีความแตกต่างทางด้านค่าใช้จ่ายและกระบวนการผลิตสูง และการรักษาวิธีนี้ในปัจจุบันส่วนมากมักต้องทำกับทันตแพทย์

ดังนั้นแม้ว่าเครื่องมือเหล่านี้ปัจจุบัน จะมีประสิทธิภาพในการรักษาที่และมีข้อดีหลายอย่าง แต่มีข้อด้อยที่อาจไม่เหมาะสมกับคนไทย คือมีราคาแพงมากคือ อาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 30,000 – 50,000 บาท และต้องอาศัยระยะเวลานานในการประดิษฐ์อุปกรณ์

นอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ช่วยยืนยันว่าผู้ป่วยรายใดจะได้รับผลสำเร็จในการรักษาอย่างแท้จริง ดังนั้นปัจจุบันจึงมีผู้สนใจการใช้ เครื่องมือในช่องปากชนิดกึ่งสำเร็จรูปชนิดปรับได้ (Titratable thermoplastic oral appliance) มากขึ้น

จากการศึกษาในต่างประเทศของเครื่องมือยืดขากรรไกรล่างกึ่งสำเร็จรูปชนิดปรับได้ พบว่าผู้ป่วยมีระดับความพึงพอใจในการใช้เครื่องมือมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และสามารถลดค่า ดัชนีการหยุดหายใจ รวมถึงเพิ่มระดับออกซิเจนต่ำสุดในเลือดขณะนอนหลับได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งจะทำให้ลดระดับความง่วงนอนในตอนกลางวัน และความดังของเสียงกรนได้อย่างมีนัยสำคัญด้วย

ภาพที่ครอบฟันแก้กรนก่อนพิมพ์ฟัน
รูปแสดงเครื่องมือในช่องปาก ก่อนการพิมพ์ฟัน
ภาพที่ครอบฟันแก้กรนหลังพิมพ์ฟัน
รูปแสดงเครื่องมือในช่องปาก หลังการพิมพ์ฟัน

โดยการรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อดี คือ ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าชนิด Custom-made ที่ทำกับทันตแพทย์มาก ทำให้ลดภาระค่ารักษาของผู้ป่วย และใช้เวลาในการทำเครื่องมืออย่างรวดเร็ว เพียง 10 นาที โดยผู้ป่วยสามารถนำเครื่องมือกลับไปใช้ในในวันเดียวกันเลย ทำให้เครื่องมือนี้อาจเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการทดลองใช้ก่อนตัดสินใจทำเครื่องมือเฉพาะทางกับทันตแพทย์ซึ่งมีราคาแพงกว่ากันเกือบสิบเท่า

อย่างไรก็ตามก่อนได้รับการรักษาดังกล่าวท่านต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนกรนที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเครื่องมือนี้อย่างเพียงพอ และรับการตรวจสุขภาพการนอนหลับ (sleep test) ก่อน แล้วจึงได้ข้อมูลที่จะพิจารณาได้ว่าท่านปลอดภัยเพียงพอ และเหมาะสม สำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วยอุปกรณ์ที่ครอบฟันแก้กรน

ผลข้างเคียงในระยะสั้นที่พบได้ เช่น ในช่วงแรกอาจพบว่ามีอาการเจ็บบริเวณที่ใส่เครื่องครอบฟัน หรือเกิดแผลที่เหงือกในบางราย และอาจมีปวดเมื่อยหรือ รู้สึกไม่สบายบริเวณกรามและขากรรไกรได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีน้ำลายออกมากผิดปกติ หรืออาจมีอาการปากแห้ง เนื่องจากหุบปากไม่สนิทเวลานอนได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวมักจะดีขึ้น ถ้าใช้และปรับตัวในระยะหนึ่ง

สำหรับผลข้างเคียงในระยะยาว ถ้าใช้ไปนาน ๆ ผู้ป่วยอาจมีการสบฟันที่ผิดปกติ ปวดฟัน หรือมีผลต่อข้อกระดูกกรามและขากรรไกรได้ อย่างไรก็ตามอาการต่าง ๆ เหล่านี้มักไม่รุนแรง และสามารถแก้ไขได้ถ้าท่านติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

การติดตามการรักษา

แม้ว่าการใช้เครื่องมือในช่องปากเป็นทางเลือกที่ดี อย่างหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ ในระดับที่ไม่รุนแรง แต่ผลการรักษาอาจมีข้อจำกัด เช่นเดียวกับการรักษาด้วยวิธีอื่น

ดังนั้นท่านต้องปรึกษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนอนกรนก่อน เพื่อพิจารณาว่าท่านเหมาะสมกับการรักษาด้วยเครื่องมือชนิดนี้หรือไม่ และถ้าท่านรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว ท่านควรใช้เครื่องมืออย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและควรรับการตรวจเพื่อติดตามอาการกับแพทย์เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ท่านใช้เครื่องมือในช่องปากได้อย่างถูกต้อง

และเพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด และท่านควรได้รับการดูแลสภาพช่องปากและฟัน ตลอดจนขากรรไกร โดยทันตแพทย์ควบคู่กันไปด้วย เพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งแก้ไขปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาอย่างดีที่สุด

ที่มา:
จากบทความเรื่อง เครื่องมือในช่องปากแบบกึ่งสำเร็จรูปชนิดปรับได้ สำหรับรักษานอนกรน (Titratable Thermoplastic Oral Appliances)
โดย รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine, Certified International Sleep Specialist
ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

หมายเหตุ เนื้อหาทั้งหมดในบทความนี้ ทางบริษัทฯได้รับความยินยอมจากเจ้าของบทความในการเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หากผู้ใดต้องการคัดลอกเนื้อหาทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อไปเผยแพร่ในที่อื่นๆนอกเหนือจากเว็บไซต์ของบริษัทฯ กรุณาแสดงข้อความอ้างอิงถึงเจ้าของบทความและเว็บไซต์ของบริษัทฯด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

New call-to-action
New call-to-action

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *