โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คืออะไร? สาเหตุ อาการ และวิธีแก้ไข

โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คืออะไร

โรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia คือภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท นอนหลับยาก ใช้เวลานอนนานกว่า 20 นาทีถึงจะหลับได้

โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่มักพบมากในผู้หญิงและคนชรา ซึ่งโรคนอนไม่หลับนี้อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน อ่อนเพลีย ขาดสมาธิ

นอกจากนี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความทรงจำ (Memory Problems) ภาวะซึมเศร้า (Depression) อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย (Irritability) ภูมิคุ้มกันต่ำ อีกทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย

อาการนอนไม่ค่อยหลับ

คนเราควรนอนวันละกี่ชั่วโมง?

โดยปกติ คนเรามีชั่วโมงการนอนที่แตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมสำหรับการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอในแต่ละวัยเป็นดังนี้

  • เด็กแรกเกิด: 14-17 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 1 ปี: 14 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 2 ปี: 12-14 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 3-5 ปี: 10-13 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 6-13 ปี: 9-11 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 14-17 ปี: 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
  • ผู้ใหญ่: 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
  • ส่วนผู้สูงอายุจะมีชั่วโมงการนอนที่สั้นลง เพราะร่างกายสามารถผลิตสารที่ช่วยให้นอนหลับได้ลดน้อยลง

สาเหตุของโรคนอนไม่หลับ (Insomnia)

อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ สภาพแวดล้อมและอุปนิสัยการนอน (Sleep hygiene)

  • ปัจจัยทางด้านร่างกาย อาจมีความผิดปกติระหว่างการนอน เช่น มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) หรือมีปัญหาจากอาการอื่น เช่น อาการเจ็บป่วย มีไข้ โรคกรดไหลย้อน บางคนอาจมีระบบประสาทที่ตื่นตัวมากกว่าปกติจึงทำให้หลับยาก
  • ปัจจัยทางด้านจิตใจ อาจเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์
  • ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการมีเสียงรบกวน หรือมีแสงไฟรบกวน
  • อุปนิสัยการนอนที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยการทำกิจกรรมต่างๆที่ส่งผลให้นอนไม่หลับ เช่น การเล่นเกมส์ การเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นคาเฟอีน เป็นต้น
สาเหตุการนอนดึก

อาการของโรค Insomnia

อาการของโรคนอนไม่หลับนี้ สามารถพบได้หลายรูปแบบ เช่น

  • ต้องใช้เวลานานกว่าจะนอนหลับได้
  • ชั่วโมงนอนน้อยเกินไป (ดูหัวข้อด้านบน เรื่องระยะเวลาการนอนที่เหมาะสมในแต่ละอายุ)
  • หลับแล้วตื่นบ่อยๆ (Interrupted sleep)
  • ตื่นแล้วไม่สามารถนอนหลับได้อีก
  • ง่วงนอนในเวลากลางวัน แต่นอนไม่หลับในเวลากลางคืน เหล่านี้ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม: นอนไม่หลับ ส่งผลอย่างไรต่อสมอง?

อาการนอนไม่หลับ

ความรุนแรงของโรคนอนไม่หลับ

สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับดังนี้

  1. อาการนอนไม่หลับชั่วคราว (Transient insomnia) มักพบในช่วงการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน หรืออาจเกิดจากอาการ Jet lag เมื่อเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาโลก (Time zone)
  2. อาการนอนไม่หลับระยะสั้น (Short-term insomnia) มักเกิดเพียง 2-3 วันจนถึง 3 สัปดาห์ อาจพบได้เนื่องจากเกิดภาวะเครียด
  3. อาการนอนไม่หลับเรื้อรัง (Long-term or Chronic insomnia) เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานอาจเป็นเดือน หรือเป็นปี ซึ่งอาจเกิดผลจากการใช้ยา การเจ็บป่วยเรื้อรังไม่ว่าทางด้านร่างกายและจิตใจ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของการนอนหลับโดยตรง (Primary sleep disorder) การนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง ส่งผลเสียอะไรบ้าง?

อันตรายของโรคนอนไม่หลับ

การวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับ

แพทย์จะทำการซักประวัติจากตัวผู้ป่วยและบุคคลที่นอนใกล้ชิด เพื่อข้อมูลที่เกี่ยวกับช่วงที่ผู้ป่วยหลับว่ามีอาการอย่างไรบ้าง เช่น มีปัญหาการนอนอย่างไร มีอาการมานานเท่าไร รวมถึงสภาพแวดล้อมการนอน และพิจารณาแยกโรคทางจิตเวช และอายุรกรรมที่อาจทำให้นอนหลับได้ไม่ดี

ส่วนการตรวจสภาพสรีรวิทยาการนอนหลับด้วยเครื่อง Polysomnograph หรือเรียกว่าง่ายๆ ว่า การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) ควรทำในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเช่น รักษานานกว่า 6 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือจากการซักประวัติแพทย์สงสัยว่าอาจเกิดจากปัญหาของโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนโดยตรง เช่น Sleep apnea syndrome หรือ PLMD

  • การรักษาโดยไม่ใช้ยาโดยการแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะการนอนหลับ
  • การใช้ยาช่วยในการนอนหลับ ต้องทำร่วมกับการนอนที่ถูกสุขลักษณะด้วยเสมอ ซึ่งควรใช้ยาในกรณีที่มีความรุนแรง และควรใช้ยาให้ระยะสั้นที่สุด ไม่ควรใช้ยาเกิน 2-3 สัปดาห์

การรักษาโรคนอนไม่หลับ

สำหรับโรคนอนไม่หลับที่อาการยังไม่รุนแรง รวมทั้งผู้ที่มีภาวะนอนไม่หลับเรื้อรัง สามารถดูแลตัวเองและมีแนวทางในการรักษา 2 วิธี ได้แก่ การดูแลรักษาโดยแพทย์หรือการใช้ยา และการดูแลรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา

1. การรักษาโดยแพทย์หรือการใช้ยา

การรักษาโรคนอนไม่หลับโดยวิธีทางการแพทย์จะแบ่งออกเป็นการรักษาด้วยการใช้ยา และการบำบัดรักษาทางการแพทย์ สำหรับการใช้ยา จะสั่งยาโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนเมลาโทนิน (อ่านเพิ่มเติม: เมลาโทนิน (Melatonin) คืออะไร?) หรือยารักษาอาการทางจิต ช่วยผ่อนคลายและลดอาการวิตกกังวล ทำให้นอนหลับง่ายและหลับสนิท

ส่วนการบำบัดรักษาทางการแพทย์ เป็นการรักษาเพื่อให้เกิดภาวะผ่อนคลาย เช่น ดนตรีบำบัด วารีบำบัด การบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม

2. การดูแลรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา

  1. จัดการกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการนอนหลับ เช่น เรื่องสุขลักษณะการนอน ห้องนอนควรมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก อุณหภูมิเหมาะสม เงียบ
  2. ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายก่อนนอน หลักเลี่ยงเรื่องที่ส่งผลให้เกิดความเครียด และทำให้รู้สึกตื่นตัว เช่น เล่นเกมส์ เล่นโทรศัพท์มือถือ
  3. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบในช่วงเย็น เพราะคาเฟอีนจะส่งผลให้นอนไม่หลับ
  4. เมื่อเข้านอนแล้วแต่ไม่สามารถนอนหลับได้ในเวลาประมาณ 20 นาที ให้ลุกขึ้นจากเตียงไปทำกิจกรรมที่สบายๆ และผ่อนคลาย แล้วกลับไปนอนใหม่อีกครั้งเมื่อง่วง
  5. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังจะทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
  6. เข้านอน-ตื่นนอนให้เป็นเวลา
  7. หลีกเลี่ยงการงีบหลับในตอนกลางวัน
  8. งดดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ แม้เครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้นอนหลับง่ายแต่จะตื่นบ่อย ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ
  9. งดสูบบุหรี่ และสารเสพติด

อ่านเพิ่มเติม: นอนหลับอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ?

ท่าโยคะแก้ปัญหานอนไม่หลับ
9 ท่าโยคะแก้ปัญหานอนไม่หลับ