โรคลมหลับ (Narcolepsy) คืออะไร?
โรคลมหลับ (Narcolepsy) คือหนึ่งในโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการนอน ผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาและสามารถหลับได้ในช่วงเวลาต่างๆอย่างผิดปกติ แม้ว่าจะนอนเพียงพอแล้วก็ตาม
บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายการหลับ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการคอตก ขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างเฉียบพลัน ซึ่งทำให้อาจเกิดอันตรายได้หากหลับในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมเช่น ขณะขับรถ เป็นต้น
โรคลมหลับนี้ แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่แพทย์ก็สามารถให้การรักษาแก่ผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนคนปกติได้
อาการของโรคลมหลับ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการเมื่อมีอายุ 10-25 ปี โดยความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันในแต่ละคนซึ่งมีอาการดังนี้
- ง่วงนอนอย่างมากในช่วงเวลากลางวัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม เช่น ขณะทำงาน พูดคุย หรือแม้กระทั่งขับรถ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกสดชื่นหลังจากการงีบหลับนั้น แต่จะรู้สึกง่วงอีกครั้งในระยะเวลาไม่นาน
- มีอาการผล็อยหลับหรือวูบหลับ และมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างกะทันหันได้ (Cataplexy) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เฉียบพลัน
- มีอาการคล้ายผีอำ (Sleep Paralysis) ซึ่งมีอาการคือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายหรือส่งเสียงได้ทั้งขณะนอนหลับ หรือแม้กระทั่งตอนตื่น แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวตาและหายใจได้ตามปกติ ซึ่งอาการนี้มักเกิดในระยะสั้นๆ
- มีอาการประสาทหลอนได้ในขณะหลับหรือกึ่งหลับกึ่งตื่น (Hypnagogic Hallucination) เช่น เห็นภาพหลอนเป็นสัตว์ประหลาดหรือสิ่งที่น่ากลัวต่างๆ
- อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่นไม่มีสมาธิ ปวดศีรษะ ขี้ลืม ซึมเศร้า
ภาวะแทรกซ้อนและผลกระทบด้านอื่นๆ
- ด้านความสัมพันธ์ เนื่องจากผู้อื่นอาจจะมองผู้ป่วยเป็นคนขี้เกียจเพราะมีอาการนอนหลับได้ตลอดเวลา
- ด้านการทำงาน ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเกิดปัญหาในการทำงานได้ง่าย
- โรคอ้วน (Obesity) ผู้ป่วยจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้มากกว่าคนทั่วไป
- อุบัติเหตุ เนื่องจากอาจเกิดอาการหลับโดยไม่รู้ตัวในขณะทำกิจกกรมที่อันตราย เช่น ขณะขับรถ เป็นต้นซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
สาเหตุของโรคลมหลับ
ยังไม่สามารถบอกสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า ไฮโปเครติน (Hypocretin) ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารที่ช่วยควบคุมการนอนหลับ มีปริมาณต่ำลงผิดปกติ ทำให้เกิดการสันนิฐานว่า การขาดสารชนิดนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ ซึ่งภาวะที่ร่างกายมีปริมาณสารไฮโปเครตินต่ำลงนี้อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยดังนี้
- ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ โดยมีภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาต่อต้านโปรตีนบางชนิดที่ถูกผลิตขึ้นมาจากสมองส่วนที่มีการสร้างสารไฮโปเครติน จึงอาจส่งผลให้สารไฮโปรเครตินมีปริมาณลดลง
- ปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยทำให้มีความผิดปกติของสมองส่วนที่มีการสร้างสารไฮโปเครติน เช่น มะเร็งสมอง สมองอักเสบ เป็นต้น
- ปัจจัยทางด้านอื่นๆ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน ความเครียด การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนหลับอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติได้
การตรวจวินิจฉัย
หากมีข้อสงสัยว่าอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ แพทย์อาจแนะนำให้เข้าพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์ลักษณะการนอนหลับอย่างละเอียด ดังนี้
- เก็บข้อมูลจดบันทึกรูปแบบการนอนของตัวเองในแต่ละวัน บางรายอาจมีการสวมเครื่องมือที่ข้อมือเพื่อวัดระยะเวลาการตื่น-หลับ (Actigraphy)
- การแปลผลตรวจการนอนหลับ (Polysomnography)
- การตรวจความง่วงนอน (Multiple Sleep Latency Test : MSLT) เป็นการตรวจระยะเวลาที่รู้สึกง่วงและเวลาการนอนหลับในเวลากลางวัน
การรักษาและการป้องกัน
โรคลมหลับไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมให้ไม่รุนแรงได้ และทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยการใช้ยา หรือการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม
1) การใช้ยา
- ยากระตุ้น เป็นยาที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้ผู้ป่วยตื่นอยู่ตลอดเวลาในตอนกลางวัน แต่อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปากแห้ง ได้
- ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอและกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ โดยมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะผีอำ และภาวะประสาทหลอน ยานี้ยังมีผลข้างเคียง เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น บกพร่องทางเพศ ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ได้
- ยากลุ่มไตรไซคลิก ช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ แต่ก็มีผลข้างเคียงคือปากแห้งและวิงเวียนศีรษะได้
- ยาโซเดียมออกซีเบต มีประสิทธิภาพสูงในการบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และยังสามารถช่วยเกี่ยวกับการนอนหลับในตอนกลางคืนได้ดีมากขึ้น แต่อาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ มีเหงื่อขณะนอนหลับ และการละเมออาจมีความรุนแรงมากขึ้น
2) การปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม
- ตื่น-นอนในเวลาเดียวกันในทุกๆวัน
- ผ่อนคลายร่างกายก่อนเข้านอน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หากเกิดอาการขึ้น เช่น ขับรถ ทำอาหาร