รู้จักโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ใน 3 นาที
ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อาการหายใจผิดปกติ เป็นอันตรายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากอาการเหล่านี้ บางครั้งอาจไม่ได้บ่งบอกอาการของโรคอย่างชัดเจน เช่น อาการหยุดหายใจขณะหลับ ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพที่เกิดจากการนอนกรน เป็นต้น
ซึ่งการป้องกันรักษาหรือการดูแลตนเองจากปัญหาสุขภาพเหล่านี้ อาจมีศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้เรียกหรือใช้ทับศัพท์อยู่หลายคำ ซึ่งหลายท่านอาจไม่ทราบความหมาย เช่น Sleep Apnea คำนี้คืออะไร หาคำตอบได้จากบทความต่อไปนี้
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) คืออะไร?
Sleep apnea คือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของกลุ่มอาการภาวะหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ
ภาวะหายใจผิดปกติจากการนอนหลับ หรือ Sleep Disordered Breathing (SDB) หมายถึง กลุ่มอาการชนิดหนึ่งที่เมื่อนอนหลับแล้วร่างกายจะเกิดความผิดปกติทางการหายใจ อย่างเช่น มีการหยุดหายใจขณะหลับ หรือเกิดการหยุดหายใจเป็นพักๆ ตลอดทั้งคืน ทำให้อวัยวะต่างๆภายในร่างกายขาดออกซิเจนจนเป็นสาเหตุของโรคนอนไม่หลับ และอื่นๆ อีกหลายโรค
Sleep Apnea หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับ เกิดได้อย่างไร
Sleep Apnea หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดจากการอุดกั้นของช่องทางเดินหายใจของเรา ซึ่งหากมีการอุดกั้นเพียงบางส่วน ก็จะทำให้ช่องทางเดินหายใจเกิดการสั่นกระพือและเกิดเป็นเสียงกรนดังขึ้น แต่มักไม่มีอันตราย นอกจากทำให้เกิดความรำคาญเท่านั้น
แต่ถ้าการอุดกั้นนั้นเกิดแบบสมบูรณ์ คืออากาศไม่สามารถไหลผ่านเข้าร่างกายของเราได้เลย เราจะเรียกว่าสภาวะนี้ว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ Sleep Apnea
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้อันตรายมาก ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจสายเกินไปครับ
โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) มีกี่ประเภท?
แบ่งตามสาเหตุของการเกิด
Sleep Apnea หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับ สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทตาม “สาเหตุของการเกิด” ได้แก่ ชนิดที่เกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (OSA) ชนิดเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง (CSA) และชนิดผสม (Mixed) ซึ่งเป็นชนิดที่เกิดร่วมกันทั้งจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจและจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง ทั้ง 3 ชนิดมีสาเหตุการเกิดของภาวะหยุดหายใจขณะหลับแตกต่างกัน ดังนี้
1. ประเภทที่เกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (OSA)
การหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดเกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive Sleep Apnea; OSA) เป็นอาการที่พบได้มากถึง 85% ของกลุ่มโรคนี้ โดยเกิดจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจตอนบน เช่น จมูก ช่องปาก และลำคอ มีผลทำให้ทางเดินหายใจตอนบนตีบแคบ ส่งผลให้ร่างกายและสมองขาดอากาศ การทำงานของกล้ามเนื้อจึงลดลงหรือหยุดทำงาน ทำให้ผู้ที่นอนหลับมีอาการสะดุ้งตื่นและกลับมาหายใจอีกครั้ง เมื่อเกิดขึ้นซ้ำๆ ก็จะทำให้นอนน้อยหรือนอนไม่เต็มตื่น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ความรุนแรงของอาการโดยทั่วไปพบได้ตั้งแต่การเกิดภาวะหยุดหายใจเฉลี่ย 5 ครั้งต่อชั่วโมง ไปจนถึงมากกว่า 30 ครั้งต่อชั่วโมง
2. ประเภทที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง (CSA)
ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Central Sleep Apnea หรือ CSA เป็นชนิดอาการที่พบได้น้อยที่สุด คือประมาณ 0.4% มีสาเหตุมาจากโรคของสมองส่วนกลาง ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอก โรคมะเร็งสมอง หรือจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่กดสมองส่วนกลางเช่น ยานอนหลับ ทำให้สมองสามารถสั่งงานไม่ปกติในช่วงนอนหลับ จึงเกิดภาวะผิดปกติในการหายใจ หายใจได้ตื้นๆ หรือหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งลักษณะการหยุดหายใจจะหยุดเป็นพักๆ
3. ประเภทผสม (Mixed Sleep Apnea)
อาการหยุดหายใจขณะหลับชนิดผสม พบได้ประมาณ 15% ของโรค ซึ่งสาเหตุการเกิดก็จะเกิดได้ทั้งมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ และเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง ร่วมด้วย
แบ่งตามกลุ่มผู้ป่วย
นอกจากนี้ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ยังสามารถแบ่งตาม “กลุ่มผู้ป่วย” ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในคนทั่วไป
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในหญิงตั้งครรภ์
อ่านเพิ่มเติม: 3 ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สาเหตุ และอันตรายของมัน
อาการของโรคหยุดหายใจขณะหลับ
อาการดังต่อไปนี้ บ่งบอกว่าท่านอาจเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ
- นอนกรนเสียงดังมาก และกรนดังเป็นประจำ จนเกิดความรำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมด้วย
- มีลักษณะของการกรนแล้วหยุดเป็นพักๆ ตามด้วยอาการเหมือนสำลักขณะนอนหลับ
- หายใจติดขัด หายใจแรง เวลานอน
- รู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย
- ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น มีอาการปวดศีรษะ
- ง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน เช่น ขณะทำงาน หรือหลับในขณะขับรถ
- รู้สึกหงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดีบ่อยๆ
- ไม่มีสมาธิ ขี้ลืม
- ความรู้สึกทางเพศลดลง
อันตรายจากโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
หากมีอาการที่รุนแรง การหยุดหายใจขณะหลับเป็นเวลานานอาจทำให้เสียชีวิตได้ และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจากผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอนตลอดเวลา เป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน
นอกจากนั้นยังเป็นสาเหตุทำให้มีโรคแทรกซ้อนซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องทำการรักษาและกินยาไปตลอดชีวิต เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองทำให้เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต รวมถึงโรคอันตรายอื่นๆ อีกมากมาย และในกรณีร้ายที่สุด อาจทำให้เสียชีวิตขณะหลับ หรือเรียกว่าไหลตายได้
อ่านเพิ่มเติม: อันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
แนวทางการรักษา Sleep Apnea (โรคหยุดหายใจขณะหลับ)
สำหรับแนวทางการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรค โดยดูจากประวัติอาการบอกเล่าของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด การตรวจร่างกาย และผลการทดสอบการหยุดหายใจขณะหลับ หรือผล Sleep Test
การตรวจ Sleep test เป็นการตรวจด้วยเครื่องตรวจเฉพาะ โดยจะตรวจสัญญาณของร่างกายขณะหลับได้พร้อมๆ กันหลายส่วน เช่น การตรวจวัดลักษณะการหายใจ เพื่อดูจำนวนครั้งของการหยุดหายใจ การทำงานของสมอง การเคลื่อนไหวของลูกตา การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ปริมาณอากาศในการหายใจเข้าออก และปริมาณออกซิเจนในเลือด เป็นต้น
เมื่อพบสาเหตุหรืออาการผิดปกติ แนวทางการรักษาของแพทย์จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค ดังนี้
1. กรณีที่อาการอยู่ในระดับน้อย (Mild OSA)
อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการนอน ด้วยการฝึกนอนตะแคงแทนการนอนหงาย และการนอนเอนตัวในท่ากึ่งนอนกึ่งนั่ง หากมีน้ำหนักตัวมากอาจแนะนำให้ลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักตัว
2. กรณีที่อาการอยู่ในระดับปานกลาง (Moderate OSA)
อาจทำการรักษาด้วยเครื่อง CPAP และ หน้ากาก CPAP ซึ่งเป็นการใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยขยายทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ ทำให้หายใจเอาอากาศเข้าได้ในปริมาณสูงขึ้น ป้องกันอาการนอนกรนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของ Sleep Apnea
3. กรณีที่อาการอยู่ในระดับรุนแรง (Severe OSA)
และใช้แนวทางการรักษาหลายๆ วิธีมาแล้วไม่ได้ผล หรือไม่ทำให้อาการลดความรุนแรงลง แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเพดานอ่อน ผ่าตัดกระดูกกราม หรือการเจาะคอเพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
การรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ ถ้าเป็นข้าราชการก็สามารถใช้สิทธิ์เบิกค่าตรวจและรักษาได้ (อ่าน ขั้นตอนการรักษานอนกรน และใช้สิทธิ์เบิกราชการใน รพ.ของรัฐฯ) ส่วนการเบิกประกันสังคมนั้นยังไม่สามารถทำได้ ยกเว้นบางรายที่มีความจำเป็นมากและต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งแพทย์จะต้องเป็นผู้ประเมินและสั่งตรวจให้
สรุป
อาการหยุดหายใจขณะหลับหรือ Sleep Apnea เป็นปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ บางครั้งความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจไม่มีความรุนแรง แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้สนใจป้องกันรักษา เมื่ออาการมีความรุนแรงมากขึ้น ก็จะทำให้ยากต่อการรักษา ดังนั้นเมื่อพบความผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีอาการง่วงนอนตลอดเวลา ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะหรือวินิจฉัยสาเหตุของโรคเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป