การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) คืออะไร?

การตรวจการนอนหลับ (Sleep test) คืออะไร

ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) คืออะไร

การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep test คือการตรวจสำคัญที่ใช้เพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายระหว่างการนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และกล้ามเนื้อ รวมถึง ศึกษาพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะหลับด้วย

ปัจจุบันถือว่าเป็นการตรวจมาตรฐานสากล (Gold standard) สำหรับการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea; OSA) รวมถึงการกระตุกของกล้ามเนื้อต่างๆ และพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างการนอนหลับ เป็นต้น

เมื่อไหร่จึงควรรับการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)

ข้อบ่งชี้ที่สำคัญของการตรวจ sleep test ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหานอนกรนดังผิดปรกติ หรือมีอาการง่วงนอนกลางวันมากผิดปรกติ ทั้ง ๆ ที่ได้นอนอย่างเพียงพอแล้ว, ผู้ที่มีอาการหายใจลำบาก และสงสัยว่าจะมีการหยุดหายใจขณะหลับ หรือ ผู้ที่มีพฤติกรรมการนอนผิดปรกติอื่น ๆ เช่น นอนแขนขากระตุก นอนกัดฟัน หรือ นอนละเมอ นอนฝันร้าย สะดุ้งตื่นเป็นประจำ เป็นต้น

โดยผู้รับการตรวจควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคการนอนหลับโดยตรง หรือแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้องเช่น หู คอ จมูก, อายุรแพทย์, หรือกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อสอบถามประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนและหลังการตรวจ เพื่อพิจารณาทางเลือกในการตรวจและรักษาแบบต่างๆ

ประโยชน์ของการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)

เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐาน (Standard investigation) ที่ใช้ในการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) ซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนและการตัดสินใจทางเลือกในการรักษา

เช่น อาจใช้ในการตั้งค่าความดันลม (Pressure titration) ในกรณีที่รักษาโรคด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เพื่อขยายช่องทางเดินหายใจ หรือการปรับระดับของเครื่องมือในช่องปาก (Oral appliances)

นอกจากนี้ยังใช้พิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดทางเดินหายใจและใช้ติดตามผลการรักษา ตลอดจนช่วยในการวินิจฉัยโรคความผิดปรกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการนอนได้อีกด้วย

การตรวจ Sleep Test มีแบบใดบ้าง และควรเลือกตรวจอย่างไร

การ ตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test (บางครั้งเรียกว่า Sleep study หรือ Polysomnography) สามารถแบ่งออกได้ เป็น 4 ระดับ ตามความละเอียดของข้อมูลที่ตรวจ โดยใช้ตามนิยามของสมาคมเวชศาสตร์การนอนหลับของสหรัฐอเมริกา (American Academy of Sleep Medicine หรือ AASM) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลดังนี้

ระดับที่ 1 การตรวจสุขภาพการนอนแบบสมบูรณ์โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดคืน (Comprehensive technician-attended polysomnography)

การตรวจแบบนี้จะประกอบด้วย การวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อลูกตา ใต้คาง และขา คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด และการตรวจวัดลมหายใจ เป็นอย่างน้อย โดยอาจทำภายในห้องตรวจเฉพาะของสถานพยาบาล หรือนอกสถานที่ แต่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการตลอดทั้งคืนที่ตรวจ

ระดับที่ 2 การตรวจสุขภาพการนอนหลับแบบสมบูรณ์ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดทั้งคืน (Comprehensive-unattended portable polysomnography)

การตรวจวิธีนี้อาจตรวจตามบ้าน ในห้องนอนของผู้รับการตรวจเองซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย หรือ ตามสถานที่พักต่างๆ ทำให้คล้ายกับการนอนในชีวิตประจำวันมากกว่า โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ให้แต่ไม่ได้เฝ้าระหว่างเวลาที่ตรวจ

ลักษณะของการตรวจแบบนี้มีส่วนประกอบและข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือได้ใกล้เคียงกับ การตรวจระดับ 1 แต่มีข้อดี เช่น ค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ถูกกว่า เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในเรื่องค่าห้องของโรงพยาบาลรวมถึง ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง

นอกจากนี้ยังใช้เวลาในการรอคิวตรวจน้อยกว่า โดยผู้ที่เหมาะสำหรับการตรวจวิธีนี้ ได้แก่ ผู้ที่เคลื่อนไหวและเดินทางไม่สะดวก หรือผู้ที่มีอาการมากและต้องการรักษาอย่างรวดเร็ว แต่ต้องรอคิวตรวจในโรงพยาบาลนานมาก เป็นต้น

ระดับที่ 3 การตรวจสุขภาพการนอนหลับแบบจำกัดข้อมูล (Limited channel portable sleep test)

การตรวจนี้ จะมีเพียงการตรวจ ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของหน้าอกและท้อง การวัดระดับออกซิเจนในเลือด การวัดระดับเสียงกรน บางครั้งอาจมีการวัดคลื่นหัวใจร่วมด้วย หรือการตรวจการนอนหลับจากระบบหลอดเลือดและประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น

การตรวจแบบนี้อาจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าระดับ 1 และ 2 อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจมักได้ค่าความรุนแรงต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากไม่ได้วัดคลื่นสมอง จึงไม่สามารถประเมิน ประสิทธิภาพในการนอน รวมระยะความลึกของการนอน ทำให้ผลตรวจมีความแม่นยำน้อยกว่า

ระดับที่ 4 การตรวจระดับออกซิเจนในเลือด และหรือ วัดลมหายใจขณะหลับ (Single or dual channel portable sleep test)

เป็นการตรวจเพียงบางส่วน และได้ข้อมูลไม่เกิน 3 อย่างเท่านั้น จึงเลือกใช้เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถตรวจในแบบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วได้เท่านั้น เนื่องจากข้อมูลที่ตรวจได้มักจะไม่มีความน่าเชื่อถือมากพอที่จะนำมาใช้ยืนยันการวินิจฉัยภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับได้

วิธีการตรวจ Sleep Test (ในกรณีนี้หมายถึงการตรวจระดับ 1 และ 2) ทำอย่างไร

การตรวจสุขภาพการนอนหลับจะเริ่มต้นในช่วงหัวค่ำ (ประมาณ 20.00 น ทั้งนี้ตามความเหมาะสมของแต่ละราย) ก่อนเริ่มการตรวจเจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการนอน หรืออาจให้กรอกแบบสอบถาม และเอกสารความยินยอมของผู้รับการตรวจ

หลังจากนั้น แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับ (Sleep technician) จะอธิบายลักษณะเกี่ยวกับอุปกรณ์ และการปฏิบัติตัวต่างๆ ระหว่างการตรวจ ในกรณีที่ตรวจสุขภาพการนอนหลับ ระดับที่ 1 ผู้รับการตรวจส่วนมากจะได้รับการทดลองใส่หน้ากากของเครื่องเป่าความดันลมบวก (CPAP mask) เพื่อปรับตัวก่อนในกรณีที่มีภาวะหยุดหายใจระดับรุนแรง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้รักษาโดยเครื่องดังกล่าวภายในคืนที่ตรวจเลย

เมื่อผู้รับการตรวจพร้อมที่จะเข้านอน หลังจากชำระร่างกายสะอาดแล้ว เจ้าหน้าที่จะเริ่มทำการติดสายวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง รวมถึงกล้ามเนื้อลูกตา กล้ามเนื้อใต้คาง และขา รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ดังนั้นผู้รับการตรวจจะมีอุปกรณ์ต่างๆ และสายติดที่บริเวณศีรษะ ใบหน้า คาง หน้าอกและขาทั้ง 2 ข้าง

นอกจากนี้ยังมีการตรวจระบบหายใจโดยมี สายวัดบริเวณจมูก สายรัดหน้าอก และบริเวณท้อง รวมถึงจะมีเครื่องวัดระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว และอาจมีเครื่องวัดระดับเสียงกรน หรือการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การบันทึกภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ตามความจำเป็น

สำหรับการตรวจระดับที่ 1 จะมีเจ้าหน้าที่จะอยู่ในห้องควบคุมภายนอกห้องนอนของผู้รับการตรวจ ซึ่งจะดูแลระหว่างการตรวจ ส่วนการตรวจระดับที่ 2 จะไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้า แต่จะให้นอนหลับอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน

อ่านเพิ่มเติม: การตรวจการนอนหลับที่บ้าน (Home Sleep Test)

ท่านควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนรับการตรวจ?

ผู้รับการตรวจส่วนมากสามารถนอนหลับได้ใกล้เคียงปกติ และไม่จำเป็นต้องหยุดงาน เนื่องจากการตรวจทำในช่วงใกล้เวลานอนปรกติ โดยในวันที่ตรวจผู้รับการตรวจควรสวมเสื้อผ้า เหมือนชุดที่ใส่นอนเป็นประจำ โดยทำจิตใจให้สบาย ไม่ต้องวิตกกังวล เนื่องจากการตรวจจะไม่สร้างความเจ็บปวดใดๆ นอกจากความไม่คุ้นเคยกับเครื่องมือที่ติดตามร่างกายส่วนต่างๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ในวันที่ทำการทดสอบ ผู้รับการตรวจควรหลีกเลี่ยงการดื่ม กาแฟ ชา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์เป็นส่วนผสม หรือการออกกำลังกายอย่างหนักหลังเที่ยง และไม่ควรใส่น้ำมัน หรือครีมแต่งผม โดยควรจะนอนในท่าที่สบายและเคยชินที่สุด

สำหรับกรณีที่ใช้ยารักษาโรคประจำตัวเป็นมานาน เช่น ยาลดความดันโลหิต ยารักษาเบาหวาน หรือ ยานอนหลับ อาจไม่จำเป็นต้องหยุดยาก่อนตรวจ อย่างไรก็ดีควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่และแพทย์ทราบด้วย

หลังจากตรวจเสร็จ ในช่วงเช้า ผู้รับการตรวจสามารถตื่นนอนตามเวลาปกติ โดยกรณีที่ตรวจระดับ 2 อาจนัดแนะเวลากับเจ้าหน้าที่ให้มาถึงสถานที่รับการตรวจตามสะดวก โดยเจ้าหน้าที่จะทำการแกะอุปกรณ์ต่างๆออก และนำกลับไปวิเคราะห์ผลและตรวจสอบโดยแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับต่อไป

ข้อควรรู้อื่นๆ เกี่ยวกับการตรวจการนอนหลับ

ในปัจจุบัน โรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลในสังกัดของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มักมีห้องตรวจสุขภาพการนอนมาตรฐานระดับ 1 ซึ่งสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิที่มีอยู่ เช่น ข้าราชการ, สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิประกันสุขภาพที่มีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด โดยผู้รับการตรวจควรสอบถามรายละเอียดและขั้นตอนหรือเอกสารที่จำเป็นก่อนการนัดตรวจ

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ ค่าใช้จ่ายในตรวจของโรงพยาบาลรัฐ จะอยู่ที่ประมาณ 7,000 – 9,000 บาท โดยในกรณีที่การตรวจในโรงพยาบาลรัฐ ต้องรอคิวตรวจนานมาก และอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

กรณีนี้ ผู้รับการตรวจอาจปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อพิจารณาทางเลือกในการตรวจระดับอื่นทดแทนตามความเหมาะสม เช่น อาจติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อนัดวันและเวลาในการตรวจ ระดับ 2 ในสถานที่พักส่วนตัวตามความสะดวกเอง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นการตรวจที่ได้ผลใกล้เคียงกับการตรวจในโรงพยาบาลมาก แต่มีความสะดวกสบาย และประหยัดมากกว่า

หรืออาจพิจารณาเลือกตรวจสุขภาพการนอนหลับในสถานพยาบาลเอกชนที่แปลผลด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ จึงจะได้ผลที่น่าเชื่อถือมากพอ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งผู้รับการตรวจควรศึกษาเรื่องสิทธิการรักษา เช่น การเบิกสินไหมประกันชีวิตที่ตนมีอยู่ด้วย

ทั้งนี้ผู้รับการตรวจควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตนเอง เพื่อที่จะได้ข้อมูลอ้างอิงที่สำคัญอย่างแท้จริงสำหรับวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคได้อย่างคุ้มค่า ในระยะยาวต่อไปในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม: อยากตรวจนอนกรน ไปที่ไหนดี?


รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine, Certified International Sleep Specialist
ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


หมายเหตุ เนื้อหาทั้งหมดในบทความนี้ ทางบริษัทฯได้รับความยินยอมจากเจ้าของบทความในการเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หากผู้ใดต้องการคัดลอกเนื้อหาทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อไปเผยแพร่ในที่อื่นๆนอกเหนือจากเว็บไซต์ของบริษัทฯ กรุณาแสดงข้อความอ้างอิงถึงเจ้าของบทความและเว็บไซต์ของบริษัทฯด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ดาวน์โหลด E-Book รายชื่อโรงพยาบาลรักษานอนกรน
รายชื่อโรงพยาบาลรักษานอนกรน