ทำไมถึงควรทดสอบการนอนหลับมากกว่าหนึ่งคืน
ผมได้ไปอ่านเจอบทความภาษาอังกฤษอันหนึ่ง เห็นว่าน่าสนใจเลยนำมาแปลให้อ่านกันครับ โดยในเนื้อหาจะเป็นการเล่าประสบการณ์การตรวจการนอนหลับที่บ้าน ของนักข่าวสายวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง ชื่อว่า ลิซ่า สเปียร์ โดยเธอบอกว่าการทดสอบในแต่ละคืนนั้น ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป
ป.ล. ผมแปะลิงค์ต้นฉบับมาให้ที่ด้านท้ายบทความนี้แล้วด้วยครับ เผื่อบางท่านอาจสนใจอ่านเนื้อหาต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษครับ
ฉันกลายมาเป็นผู้สนับสนุนการทดสอบการนอนหลับแบบหลายคืนได้อย่างไร?
โดย ลิซ่า สเปียร์
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฉันได้มีโอกาสทำการทดสอบการนอนที่บ้าน
ความกดดันจากการใช้เวลาเพียงหนึ่งคืนกับอุปกรณ์ทดสอบทำให้ฉันรู้สึกว่าต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ฉันต้องการการนอนหลับที่สมบูรณ์แบบที่สุด ฉันติดเซ็นเซอร์ในตำแหน่งที่เหมาะสม และวางนิ้วของฉันไว้ไม่ไกลจากเครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือด (Pulse oximeter) และท้ายที่สุด ฉันต้องการใช้เวลาในการนอนหลับให้มากที่สุด
ฉันปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงโลชั่นที่อาจรบกวนสัญญาณเซ็นเซอร์ และตัดเล็บมือของฉันก่อนที่จะสอดเข้าไปในโพรบของอุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนในเลือด
แต่ความหมกมุ่นกับการทำการทดสอบการนอนหลับทำให้ฉันวิตกกังวลมากเกินไปที่จะนอนหลับ!
ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ฉันนอนในสภาพแวดล้อมที่ “ปกติ” แต่การใช้อิเล็กโทรดแปะบนศีรษะและใบหน้า การรัดเข็มขัด RIP การใส่เครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว และอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมาย ความรู้สึกที่ไม่คุ้นเคยทั้งหมดที่มาพร้อมกับสิ่งเหล่านี้ ทำให้การนอนของฉันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ “ไม่ปกติ” เป็นอย่างมาก
ความรู้สึกเล็กน้อยของเซ็นเซอร์บนผิวหนังของฉัน และการกดทับที่ปลายนิ้วของเครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือด ทำให้ฉันเสียสมาธิจากการนอนหลับ
เมื่อฉันกดปุ่มเริ่มเพื่อเริ่มการบันทึกการทดสอบการนอนหลับที่บ้าน สิ่งที่ฉันทำได้ก็แค่นอนลง แต่ในใจคิดว่ายังงัยก็คงจะนอนไม่หลับแน่ๆ
ในที่สุด ความกลัวของฉันที่คิดว่าการทดสอบอาจจะไม่สมบูรณ์ ก็กลายเป็นความจริงจนได้ ฉันลอกเซ็นเซอร์ออกในเช้าวันรุ่งขึ้น ตาพร่ามัว และหมดแรง ฉันแทบไม่ได้นอนเลย ในขณะที่ฉันต้องการให้กระบวนการทดสอบเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ฉันรู้สึกว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นแน่ๆ
ฉันได้รับการตรวจการนอนหลับ โดยใช้เป็นเครื่องตรวจสาธิต (Demo unit) จากผู้ผลิตในการประชุมเกี่ยวกับการนอนหลับแห่งหนึ่ง ดังนั้นอุปกรณ์ของฉันจึงส่งข้อมูลการทดสอบการนอนหลับแบบไร้สาย ไปยังบริษัทของเค้า ซึ่งจะมีซอฟท์แวร์ประเมินผลให้โดยอัตโนมัติ
จากนั้นฉันก็ได้รับแจ้งว่า ค่าดัชนีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Apnea-Hypopnea Index หรือ AHI) ของฉันมีค่าสูงพอที่ฉันอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับเล็กน้อยได้ (Mild sleep apnea) และตัวแทนบริษัทอุปกรณ์การแพทย์ก็บอกให้ฉันไปพบแพทย์ด้านการนอนหลับต่อไป
ท้ายที่สุด ฉันก็ขอรับการตรวจอีกครั้ง ในครั้งนี้ ฉันรู้สึกสบายใจกับอุปกรณ์นี้มากขึ้น และไม่เหมือนประสบการณ์ในครั้งก่อน ครั้งนี้ฉันนอนบนเตียงของตัวเอง และครั้งนี้ AHI ที่บันทึกไว้ของฉันต่ำมากจนถือว่าไม่มีนัยสำคัญ
ประสบการณ์การตรวจการนอนหลับที่บ้านของฉัน ทำให้ฉันกลายเป็นคนที่สนับสนุนการศึกษาเรื่องการตรวจการนอนหลับแบบหลายคืน (Multi-night sleep studies)
อย่างที่เราทราบกันดีว่าการนอนหลับอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคืน นั่นอาจเป็นเพราะปัจจัยในการดำเนินชีวิต เช่น การออกกำลังกาย หรืออย่างในกรณีของฉันคือการนอนในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยพร้อมอุปกรณ์ใหม่ๆ ฉันคิดว่ามันต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยกับเซ็นเซอร์ต่างๆ เหล่านี้พอสมควร
ในการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยพบว่าการศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับในคืนเดียว อาจทำให้ ตรวจไม่พบ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับปานกลางและระดับเล็กน้อยได้มากถึง 60% และ 84% ตามลำดับ 1
การศึกษาอื่นที่ตีพิมพ์ในวารสาร CHEST Journal ซึ่งประเมินผู้ป่วย 10,340 รายพบว่าการตรวจการนอนหลับโดยใช้ข้อมูลเพียงคืนเดียว ส่งผลให้เกิดการวินิจฉัยผิดพลาดในความรุนแรงของ OSA 2
การให้การศึกษาการนอนหลับหลายคืน ช่วยให้ผู้ได้รับการตรวยมีเวลามากขึ้นในการทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ทดสอบ
การศึกษาการนอนหลับที่บ้านหลายคืนอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และการวินิจฉัยล่าช้าขึ้นเล็กน้อย แต่จากประสบการณ์ของฉัน ฉันเชื่อว่าข้อมูลการนอนหลับคืนเดียวนั้นไม่เพียงพอ
1. Stöberl AS, Schwarz EI, Haile SR, et al. Night-to-night variability of obstructive sleep apnea. J Sleep Res. 2017 Dec;26(6):782-8.
2. Punjabi NM, Patil S, Crainiceanu C, Aurora RN. Variability and misclassification of sleep apnea severity based on multi-night testing. Chest. 2020 Jul;158(1):365-73.
เกี่ยวกับผู้เขียน
ลิซ่า สเปียร์
Lisa Spear เป็นนักเขียนวิทยาศาสตร์และบรรณาธิการร่วมของ Sleep Review เธอมีส่วนร่วมในสื่อต่างๆ รวมถึง PBS, Time และ Newsweek และผลงานของเธอได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ เธอสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและเป็นสมาชิกของสมาคมนักข่าวดูแลสุขภาพและสมาคมนักเขียนวิทยาศาสตร์แห่งชาติ